วาติกัน 21 เม.ย. – สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส พระประมุขแห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกและพระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน สิ้นพระชนม์แล้วในวันนี้ขณะมีพระชนมายุ 88 พรรษา
แถลงการณ์ของสำนักวาติกันระบุว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส สิ้นพระชนม์ที่อาราม คาร์ซา ซานตา มาร์ตา ของพระองค์ ช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น ขณะทรงมีพระชนมายุ 88 พรรษา และว่าพระองค์ได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อรับใช้พระเจ้าและศาสนจักรตลอดช่วงชีวิตของพระองค์ ขณะที่บรรดาผู้นำโลกต่างออกมาแสดงความไว้อาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของโป๊ปฟรังซิส ทั้งสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ประธานาธิบดีอิซัค แฮร์ซอก ของอิสราเอล นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชส ของสเปน และนายกรัฐมนตรีจอร์จีอา เมโลนี ของอิตาลี
ในส่วนของพิธีฝังพระศพ ร่างของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสจะถูกฝังภายในวิหารเซนต์ แมรี เมเจอร์ หนึ่งในวิหารหลัก 4 แห่งของสมเด็จพระสันตะปาปาในกรุงโรม ประเทศอิตาลี และจะทรงเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์แรกในรอบมากกว่า 1 ศตวรรษ ที่จะถูกฝังพระศพนอกพื้นที่นครรัฐวาติกัน พระศพของโป๊ปฟรังซิสยังจะถูกบรรจุในหีบศพที่ทำจากไม้และทองแดง ซึ่งมีความเรียบง่ายกว่าหีบศพของโป๊ปพระองค์อื่นๆ ที่จะถูกฝังพร้อมกับหีบศพทำจากไซเปรสซึ่งเป็นไม้หอมศักดิ์สิทธิ์ที่ปิดผนึกไว้ในโลงศพตะกั่วขนาดใหญ่กว่า แล้วปิดทับด้วยกล่องไม้สนด้านนอก นอกจากนี้ หีบศพของพระองค์ยังจะถูกวางไว้ภายในมหาวิหาร เซนต์ ปีเตอร์ส บาซิลิกา ที่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ เพื่อให้คริสตศาสนิกชนและบุคคลทั่วไปเข้าสักการะศพได้โดยง่าย ไม่ต้องตั้งหีบศพบนพื้นยกสูง แบบธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยทำมา
สำหรับพิธีถวายความอาลัยจะกินเวลา 9 วัน โดยพระคาร์ดินัลจะเป็นผู้กำหนดวันฝังพระบรมศพ โดยปกติแล้ว คาดว่าพิธีศพจะจัดขึ้น 4-6 วันหลังจากที่พระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์ ส่วนการประชุมเพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะเริ่มขึ้นที่โบสถ์น้อยซิสตินในนครรัฐวาติกัน ระหว่าง 15 – 20 วันหลังจากการสิ้นพระชนม์ คณะคอนเคลฟ ซึ่งประกอบด้วยพระคาร์ดินัลทุกคนที่อายุต่ำกว่า 80 ปีสามารถเข้าร่วมการลงคะแนนลับได้ พวกเขาต้องได้คะแนนเสียงข้างมากอย่างน้อย 2 ใน 3 บวกหนึ่งจึงจะเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้
ข่าวการสิ้นพระชนม์ของโป๊ปฟรังซิส เกิดขึ้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังจากที่ทรงปรากฎพระองค์จากบนระเบียงต่อหน้าบรรดาคริสตศาสนิกชนจำนวนมาก ที่รวมตัวบริเวณจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ในนครรัฐวาติกัน เพื่อนำสวดประจำวันอาทิตย์ช่วงสั้นๆ ในเทศกาลอีสเตอร์ พร้อมกับทรงแสดงความห่วงใยต่อชาวคริสต์ในฉนวนกาซา ที่ยังคงต้องดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก พร้อมกับทรงเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการโจมตีฉนวนกาซา ให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมด และให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงทันที เพื่อให้เกิดสันติภาพในฉนวนกาซาอย่างยั่งยืน และหวังให้เกิดสันติภาพและความสงบในยูเครน ทรงระบุด้วยว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าปราศจากเสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพทางในการแสดงความคิดและการแสดงออก
โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โป๊ปฟรังซิส ปรากฎพระองค์และร่วมพิธีสำคัญทางศาสนาไม่บ่อยนัก เนื่องจากทรงอยู่ระหว่างพักฟื้นเป็นเวลา 2 เดือน หลังจากต้องเข้าโรงพยาบาลในกรุงโรมเพื่อรักษาอาการประชวรเนื่องจากปอดบวมครั้งรุนแรงนานกว่า 5 สัปดาห์ และเพิ่งออกจากโรงพยาบาลเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ถือเป็นการเผชิญวิกฤตสุขภาพครั้งรุนแรงที่สุดตลอดที่ทรงอยู่ในตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก 12 ปีเต็ม
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส มีพระนามเดิมว่า ฮอร์เก มาริโอ เบร์โกกลิโอ ประสูติวันที่ 17 ธันวาคม 2479 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เป็นพระสันตะปาปาลาตินอเมริกันคนแรกของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก แตกต่างจากผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาเกือบ 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอิตาลี ทรงมาจากนอกทวีปยุโรปในฐานะพระสันตะปาปาพระองค์ที่ 266 พระองค์ทรงมีชื่อเป็นอันดับ 2 ในการประชุมสภาเลือกพระสันตะปาปาเมื่อปี 2018 ส่วนผู้มีชื่อเป็นอันดับ 1 และได้รับตำแหน่งคือ โจเซฟ รัตซิงเกอร์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ในเวลาต่อมา ก่อนที่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 จะทรงสละตำแหน่งในปี 2013 และโป๊ปฟรังซิสทรงรับตำแหน่งต่อ
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่เลือกใช้ชื่อฟรังซิส เพื่อเป็นการระลึกถึงนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี ผู้เป็นที่รู้จักในเรื่องความทุ่มเทเพื่อคนยากจน และการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและถ่อมตน ซึ่งทรงยึดถือปฏิบัติมาตลอดพระชนม์ชีพ ทรงไม่ดำเนินตามประเพณีที่ยึดถือมาเกือบศตวรรษ ด้วยการเลือกประทับในอพาร์ตเมนต์ขนาด 2 ห้องนอนที่เรียบง่าย แทนการประทับ ณ ที่ประทับพระสันตะปาปาที่หรูหรา นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศอย่างเด่นชัด ผ่านการส่งเสริมให้สตรีดำรงตำแหน่งบริหารในวาติกัน และยังทรงเข้าถึงผู้คนในวงกว้างด้วยการเสด็จเยี่ยมร้านค้านอกสำนักวาติกันเป็นประจำ รวมถึงการมีผู้ติดตามจำนวนมากบนโลกออนไลน์ถึง 18 ล้านคนบน Twitter และ 9 ล้านคนบน Instagram พระองค์ยังทรงสร้างประวัติศาสตร์เป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรก ที่ปรากฏพระองค์บนปกของนิตยสารโรลลิงสโตน (Rolling Stone) ฉบับเดือนมกราคม 2557 ในบทความที่มีชื่อว่า “Pope Francis: The Times They Are A-Changin” ตอกย้ำถึงอิทธิพลระดับโลกของพระองค์และแนวทางการเป็นผู้นำที่ก้าวหน้า
นอกจากนี้ ในปี 2556 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ยังเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นบุคคลแห่งปีจากนิตยสารไทม์ ความอบอุ่น ความถ่อมตน และความทุ่มเทเพื่อผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการอวยพรเด็ก ๆ การเยี่ยมผู้ป่วย หรือการสนับสนุนความยุติธรรมทางสังคม ทำให้พระองค์ทรงได้รับการถวายตำแหน่ง “พระสันตะปาปาของประชาชน”.-815.-สำนักข่าวไทย