นุก 14 ม.ค.- นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐเปิดประเด็นเรื่องต้องการซื้อกรีนแลนด์ โดยอาจถึงขั้นใช้กำลังทหารเพื่อให้ได้มา จุดกระแสสงสัยว่าดินแดนแถบขั้วโลกเหนือแห่งนี้มีความสำคัญอย่างไรต่อเขา
นายทรัมป์โพสต์ในทรูธโซเชียลที่เป็นสื่อสังคมออนไลน์ของเขาเมื่อวันที่ 6 มกราคมว่า กรีนแลนด์เป็นดินแดนอันเหลือเชื่อ ชาวกรีนแลนด์จะได้รับประโยชน์มหาศาลหากเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ และเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายคนโตของเขาเดินทางไปกรีนแลนด์เป็นการส่วนตัวในวันรุ่งขึ้น เขาประกาศว่า ข้อตกลงครอบครองกรีนแลนด์จะต้องเกิดขึ้น ว่าที่ผู้นำสหรัฐแสดงความสนใจซื้อดินแดนแห่งนี้ครั้งแรกในปี 2562 แต่ถูกปฏิเสธทั้งจากกรีนแลนด์และเดนมาร์ก
กรีนแลนด์มีประชากรเพียง 57,000 คน บนพื้นที่ 2.16 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์กมานานกว่า 600 ปี โดยถูกผนวกเป็นดินแดนของเดนมาร์กอย่างเป็นทางการในปี 2496 ภายใต้รัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางกฎหมายใด ๆ จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ต่อมาเดนมาร์กได้ให้อำนาจปกครองตนเองอย่างกว้างขวางแก่กรีนแลนด์ในปี 2552 ครอบคลุมถึงสิทธิที่จะประกาศเอกราชจากเดนมาร์กผ่านการลงประชามติ
แฮร์รี ทรูแมน ประธานาธิบดีคนที่ 33 ของสหรัฐเคยเสนอซื้อกรีนแลนด์ด้วยทองคำมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลานั้น (ราว 3,470 ล้านบาทในปัจจุบัน) เพื่อเป็นสินทรัพย์ทางยุทธศาสตร์ช่วงสงครามเย็น แต่ถูกเดนมาร์กปฏิเสธ กรีนแลนด์เป็นส่วนหนึ่งขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ผ่านการที่เดนมาร์กเป็นสมาชิกนาโต มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อกองทัพสหรัฐและระบบเตือนภัยขีปนาวุธล่วงหน้าของสหรัฐ เพราะเป็นจุดที่ทำให้การเดินทางระหว่างยุโรปกับอเมริกาเหนือมีระยะทางสั้นที่สุด ปัจจุบันกองทัพสหรัฐยังคงฐานทัพอากาศบีดูฟีก (Pituffik) ไว้ที่ริมฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์นับตั้งแต่สร้างขึ้นในปี 2486 สหรัฐยังแสดงความสนใจที่จะขยายบทบาททางทหารในพื้นที่นี้ เช่น ติดตั้งเรดาร์สังเกตการณ์น่านน้ำที่อยู่ระหว่างกรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ และอังกฤษ เพราะเป็นทางเข้าออกของกองเรือและกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซีย
นอกจากนี้กรีนแลนด์ ซึ่งมีเมืองหลวง คือ กรุงนุก ตั้งอยู่ใกล้นครนิวยอร์กของสหรัฐมากกว่ากรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ยังอุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซ แต่ถูกนำมาใช้น้อยมาก กรีนแลนด์ห้ามการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่การพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ติดขัดเรื่องระเบียบยุ่งยากและชนพื้นเมืองต่อต้านคัดค้าน
ผลสำรวจในปี 2566 ระบุว่า แร่ธาตุที่คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารของสหภาพยุโรปหรืออียูเห็นว่ามีความสำคัญทั้งหมด 34 ชนิด พบว่าอยู่ในกรีนแลนด์มากถึง 25 ชนิด โดยมีแกรไฟต์และลิเธียมจำนวนมากที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ และมีแร่หายากหรือแรร์เอิร์ธจำนวนมากที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี
เศรษฐกิจกรีนแลนด์จึงพึ่งพาการประมงเป็นหลัก โดยครองสัดส่วนถึงร้อยละ 95 ของการส่งออก และได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากเดนมาร์กเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 34,700 ล้านบาท) คิดเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกรีนแลนด์
ชาวกรีนแลนด์ส่วนใหญ่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชจากเดนมาร์ก แต่ยังเสียงแตกเรื่องช่วงเวลาที่เหมาะสมและชีวิตความเป็นอยู่ที่อาจถูกกระทบ ขณะที่นักการเมืองเริ่มแสดงท่าทีหลังจากนายทรัมป์เสนอซื้อครั้งแรกว่า สนใจที่จะกระชับความสัมพันธ์และค้าขายกับสหรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างกรีนแลนด์กับสหรัฐในรัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2 จะเป็นอย่างไร ต้องจับตาดูหลังจากที่เขาสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้.-814.-สำนักข่าวไทย