แคลิฟอร์เนีย 14 ต.ค.- การทดสอบการบินของยานสตาร์ชิปและจรวดขับดันซูเปอร์เฮฟวี รอบที่ 5 ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยเฉพาะการที่จรวดซูเปอร์เฮฟวีสามารถร่อนกลับมาลงจอดที่ฐานปล่อยได้ตามเดิมอย่างแม่นยำเป็นครั้งแรกของโลก
บริษัทสเปซเอ็กซ์ของอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าเทสลา ประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินของยานสตาร์ชิป รอบที่ 5 ช่วงเช้าวานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ที่ฐานปล่อยจรวดของสเปซเอ็กซ์ ริมชายฝั่งรัฐเท็กซัสของสหรัฐ โดยยานสตาร์ชิปทะยานขึ้นจากฐานปล่อยอย่างทรงพลัง และแยกตัวจากจรวดขับดันซูเปอร์เฮฟวีในระยะเหนือพื้นโลกประมาณ 70 กิโลเมตร จากนั้นพุ่งทะยานแตะระดับไปต่อตามแผนการทดสอบการบิน ก่อนร่อนกลับสู่พื้นโลกที่มหาสมุทรอินเดียภายในเวลา 90 นาที
ที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือ จรวดขับดันซูเปอร์เฮฟวีที่ถอนตัวจากยานแม่สตาร์ชิป สามารถร่อนกลับมาลงจอดยังฐานปล่อยที่รัฐเท็กซัสได้ตามเดิมอย่างแม่นยำเป็นครั้งแรกของโลก ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของทีมงานในห้องควบคุมทางภาคพื้นของสเปซเอ็กซ์ ถือเป็นวิธีการพัฒนาที่ล้ำยุคครั้งล่าสุดในการพัฒนาจรวดและยานอวกาศที่สเปซเอ็กซ์เรียกว่า ‘ทดสอบเพื่อล้มเหลว’ ในการพัฒนาและสร้างจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อขนส่งสิ่งของและอุปกรณ์ขึ้นสู่อวกาศได้ปริมาณมากขึ้นและใช้เวลาดำเนินการน้อยลง รวมทั้งการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังดวงจันทร์ตามโครงการสำรวจอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐหรือนาซา และท้ายที่สุด คือ การสำรวจดาวอังคาร
อีลอน มัสก์ เปิดตัวโครงการยานสตาร์ชิปครั้งแรกเมื่อปี 2560 การทดสอบในรอบที่ผ่านมาเกิดระเบิดขึ้นหลายครั้ง ก่อนมาประสบความสำเร็จในการทดสอบการบินเมื่อเดือนมิถุนายนเป็นครั้งแรก ส่วนจรวดขับดันซูเปอร์เฮฟวีความสูง 71 เมตร ประกอบด้วยเครื่องยนต์ 33 เครื่อง ทำให้มีกำลังแรงผลักดันที่ทรงพลังมากกว่าจรวดของยานอาร์ทิมิสขององค์การนาซาถึง 2 เท่า.-815(814).-สำนักข่าวไทย