หนานจิง 26 ก.ย.- คณะนักวิจัยจีนแยกแอนติบอดีจากอัลปากา ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นแนวทางที่มีแนวโน้มดีสำหรับการพัฒนายาต้านเอดส์ชนิดใหม่
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานอ้างนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหนานจิง ว่า ปัจจุบันการบำบัดด้วยยาต้านไวรัสเป็นแนวทางหลักในการยับยั้งการจำลองแบบของเอชไอวี อย่างไรก็ดี แนวทางนี้แม้จะช่วยยืดอายุขัยของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องศึกษาวิธีการบำบัดใหม่ ๆ
นักวิจัยระบุว่า เชื้อไวรัสเอชไอวีกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะดื้อยา ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง แอนติบอดีที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้จึงไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ไวรัสโดยตรง แต่มุ่งเป้าไปที่ซีดี4 ซึ่งทำหน้าที่เสมือนลูกบิดประตู ที่ไวรัสใช้เพื่อเปิดประตูของเซลล์ ทำให้มีโอกาสดื้อยาน้อยลงและมีนัยสำคัญต่อการพัฒนายาต้านเอดส์ชนิดใหม่และการรักษาทางคลินิก
ทีมนักวิจัยได้แยกนาโนบอดีซีดี4 จำนวนหลายพันตัวจากอัลปากา ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในวงศ์ของอูฐ ในจำนวนนี้มีเอ็นบี457 (Nb457) ที่แสดงศักยภาพยับยั้งเอชไอวีรวมอยู่ด้วย นาโนบอดีเป็นแอนติบอดีชนิดหนึ่งที่เล็กและเสถียรกว่าแอนติบอดีทั่วไป จากนั้นทีมนักวิจัยได้สร้างอนุภาคเหมือนไวรัส (pseudovirus) จำนวนหนึ่งขึ้นมา เพื่อจำลองสายพันธุ์เอชไอวี 117 สายพันธุ์ และทำให้อนุภาคเหมือนไวรัสเหล่านี้ทำปฏิกิริยากับเอ็นบี457 ผลการทดลองพบว่า เอ็นบี457 สามารถยับยั้งไวรัส 116 สายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และออกฤทธิ์ต้านไวรัสอย่างครอบคลุม
ผลการวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการนานาชาติเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ (Nature Communications) เมื่อไม่นานนี้.-814.-สำนักข่าวไทย