สิงคโปร์ 29 ส.ค. – คณะนักวิทยาศาสตร์กล่าวในรายงานที่เผยแพร่วันนี้ว่า ไต้ฝุ่น แคมี (GAEMI) ที่พัดถล่มฟิลิปปินส์ ไต้หวันและประเทศจีนเมื่อเดือนที่แล้ว ทำลายโครงสร้างพื้นฐานและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย มีความรุนแรงเลวร้ายอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฝีมือของมนุษย์
นักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศกล่าวว่า ทะเลที่มีอุณหภูมิอุ่นขึ้นทำให้เกิด “เชื้อเพลิง” พิเศษให้กับพายุโซนร้อนที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย ทำให้พายุที่เกิดขึ้นมีอันตรายมากยิ่งขึ้น ไต้ฝุ่น “แคมี” พัดกระหน่ำทั่วพื้นที่เอเชียตะวันออก เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกมากกว่า 300 มิลลิเมตรในกรุงมะนิลา ของฟิลิปปินส์ ในระยะเวลาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น กระแสลมที่มีความรุนแรงถึง 232 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เรือบรรทุกน้ำมันอับปางนอกชายฝั่งฟิลิปปินส์และเรือสินค้าอับปางใกล้ไต้หวัน ฝนที่ตกอย่างหนักจากอิทธิพลของ “แคมี” ทำให้เกิดโคลนถล่มและมีผู้เสียชีวิตใกล้กับมณฑลหูหนานในประเทศจีน
รายงานของนักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ หรือ “เวิลด์ เวเธอร์ แอททริบิวชั่น” (World Weather Attribution) ที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกับสภาพอากาศสุดโต่ง ระบุว่า พายุ กระแสลมรุนแรงและปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ของ
พายุ “แคมี” เป็นผลมาจากการที่อุณหภูมิน้ำทะเลอุ่นกว่าเดิม นักวิจัยกล่าวว่า ในขณะที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะพบว่า อุณหภุมิในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น ซึ่งกลายเป้นเชื้อเพลิงที่มีพลังให้กับพายุไซโคลน ที่ทำให้มีความรุนแรงมากกว่าเดิม ในขณะที่นักวิจัยอีกคนกล่าวว่า พายุไต้ฝุ่นมีแนวโน้มจะเกิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม พร้อมกับเตือนว่า พายุจะเกิดขึ้นมากจนกลายเป็นปกติและมีความรุนแรงขึ้นหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส ประเทศในเอเชียตะวันออกจะเผชิญกับสภาพอากาศสุดชั้วมากขึ้น ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันอุทกภัยและการวางแผนรับมือฉุกเฉินจะถูกกดดันอย่างหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ .-813.-สำนักข่าวไทย