กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – ยูเนสโกเผยผลการสำรวจ พบว่าผู้หญิงมีโอกาสทางการเรียนและการทำงาน ในวงการสะเต็ม หรืองานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ น้อยกว่าผู้ชาย เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เปิดเผยรายงานผลการสำรวจและศึกษา หัวข้อ Cracking the Code: Girls’ and Women’s Education in STEM ระบุว่า โอกาสของผู้หญิงในการศึกษาและการทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม มีน้อยกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ช่องว่างระหว่างเพศในการศึกษากลุ่มสายวิชาดังกล่าว เริ่มเด่นชัดตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยพบว่ามีนักศึกษาเพศหญิงเรียนด้านนี้ เพียงร้อยละ 35 ขณะที่ในสายอาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีบุคลากรเพศหญิงทำงานเพียงร้อยละ 3 อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงแวดวงสะเต็มได้น้อย คือ ค่านิยมของสังคม ที่มักมองว่าสะเต็มเป็นงานของเพศชาย ทำให้ผู้หญิงเลือกที่จะละทิ้งงานสะเต็มเมื่อเติบโตขึ้น
นางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการยูเนสโก กล่าวว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศในแวดวงสะเต็ม ถือเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติปี 2573 เพราะทำให้ปัญหาความไม่เสมอภาคในสังคมยังคงอยู่ อีกทั้งยังไม่สามารถพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ระบบการศึกษาและโรงเรียน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความสนใจ และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในแวดวงสะเต็มได้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศชายและหญิงในสะเต็ม
ด้านดาโต๊ะ เสรี มาห์เดียร์ บิน คาลิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย เผยถึงแวดวงสะเต็มของมาเลเซียว่า รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการเรียนรู้ด้านสะเต็มสำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกเพศ และประชากรเพศหญิงในมาเลเซียก็มีจำนวนสูงกว่าเพศชายค่อนข้างมาก จึงไม่มีปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศมากนัก
เมื่อมองแวดวงสะเต็มของไทย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ไทย คือประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เดินหน้าใช้นโยบายแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในสะเต็ม ตามโครงการ STEM and Gender Advancement หรือ SAGA ของยูเนสโก โดยไทยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จด้วยดี จึงน่าจะเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบที่จะสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ปัญหาดังกล่าวกับประเทศอื่นๆ ได้.- สำนักข่าวไทย