กรุงเทพฯ 30 มิ.ย.- ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจและสังคม จาก 4 ประเทศในเอเชียกลาง คือ สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐคีร์กีซ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน สาธารณรัฐทาจิกิสถาน เดินทางมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศไทย เรื่องการดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจและสังคม จากสาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐคีร์กีซ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน สาธารณรัฐทาจิกิสถาน นำโดย Dr. Ugur Turan ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของสำนักงานเลขาธิการ CICA และนาย Alan Bessen ประธานมูลนิธิ Earth Foundation องค์กร NGO ด้านพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของคาซัคสถาน เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อศึกษาดูงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
การเยือนไทยครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน กับสำนักงานเลขาธิการการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย หรือ CICA
นางอรทัย ภูบุญลาภ กูนาซีลาน ที่ปรึกษาและรองหัวหน้าสำนักงาน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา เผยว่า ในระหว่างการเยือนไทย ได้นำคณะผู้แทนจาก 4 ประเทศเอเชียกลางดังกล่าว ไปชมตัวอย่างและผลงานความสำเร็จของเยาวชนในการส่งเสริมการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิดของสหประชาชาติ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เช่น โครงการการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ Community Based Tourism ที่ชุมชนตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง, การจัดการขยะริมทะเล ด้วยแนวคิด BCG Model (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน ที่มุ่งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการนำชมพื้นที่ต่าง ๆ ที่นำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy Philosophy (SEP) ของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ปฏิบัติจนเกิดสัมฤทธิ์ผล
4 ประเทศดังกล่าว ล้วนมีแนวคิดและปฏิบัติจริงจังเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น สาธารณรัฐทาจิกิสถาน มุ่งใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไฟฟ้าที่ผลิตใช้ในประเทศ เป็นไฟฟ้าจากพลังน้ำมากถึงร้อยละ 95 ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศ ส่วนสาธารณรัฐคาซัคสถาน ก็มีนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวด้วยยุทธศาสตร์เปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2593 (Transition towards Green Economy) ด้านสาธารณรัฐคีร์กีซ ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำจากน้ำแข็ง กำลังประสบปัญหาโลกร้อนขึ้นจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ได้เร่งผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ที่จะนำประเทศไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว
นอกจากการนำคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่จังหวัดชลบุรีแล้ว ยังมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการที่กรุงเทพฯ โดยผู้แทนจากทั้ง 4 ประเทศ ต่างนำเสนอแนวคิดและนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว และจุดแข็งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ เช่น ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมไปถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร และปัญหาความท้าทายที่เผชิญ
ขณะเดียวกัน นาย Yerdana Yerzhanuly ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ 24KZ ของสำนักข่าว Khabar ผู้แทนจากภาคสื่อของสาธารณรัฐคาซัคสถาน ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า รัฐบาลคาซัคสถาน มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในวงสังคมและสาธารณชน ให้เห็นถึงความสำคัญของการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีกองทุนเพื่อให้สื่อรายงานข่าวสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
ในเวทีดังกล่าว คณะนักเรียนจากโรงเรียนสายปัญญารังสิต ยังมีโอกาสนำเสนอแนวคิดของโรงเรียนสายปัญญารังสิต ซึ่งมุ่งมั่นปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่เด็กนักเรียนด้วย โดยได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากบรรดาผู้แทน 4 ประเทศเอเชียกลาง.-811(814).-สำนักข่าวไทย