ญี่ปุ่น 18 มี.ค.- สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น เปิดผลศึกษาโลกร้อน ซากุระเสี่ยงสูญพันธุ์บางแห่งก่อนปี 2100 หลังจากพบว่าในปีนี้ สถิติดอกซากุระผลิบานเร็วกว่าปีก่อน
หลังจากญี่ปุ่นผ่านพ้นฤดูหนาวที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมานี้ ล่าสุด สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาด้วยระบบเอไอ ซึ่งเปิดเผยว่าภาวะโลกร้อน อาจทำให้ซากุระพันธุ์โซเมอิโยชิโนะ หนึ่งในพันธุ์ที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายมากที่สุด สูญพันธุ์ในหลายพื้นที่ทั่วญี่ปุ่น ทั้งในจังหวัดมิยาซากิ นางาซากิ และคาโกชิมา บนเกาะคิวชู ภายในปี 2100 นี้
ซากุระพันธุ์โซเมอิโยชิโนะ ต้องอาศัยสภาพอากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว เพื่อคงวงจรของต้นไม้ต่อไป หากปราศจากอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ต้นซากุระจะไม่สามารถออกดอกผลิบานได้ ดังนั้น ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมทั่วญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน จึงทำให้เกิดความกังวลอย่างยิ่งตามมา ถึงขั้นคิดหาซากุระพันธุ์อื่นมาทดแทนโซเมอิโยชิโนะที่เป็นที่นิยมนี้ด้วย
สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ยังคงติดตามการผลิบานของดอกซากุระทั่วประเทศ พบว่าในปีนี้มีซากุระบานแห่งแรก เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ในเมืองมิยาโกจิมะ บนเกาะโอกินาวา ซึ่งเร็วกว่าการบานครั้งแรกในปีที่แล้วถึง 12 วัน ทั้งนี้ สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ยังคาดการณ์ว่า ซากุระในกรุงโตเกียว จะผลิบานครั้งแรกในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ซึ่งจะเร็วขึ้น 4 วัน จากปีที่แล้ว
ซากุระเป็นพันธุ์ไม้ที่เป็นที่นิยมเนื่องจากเติบโตเร็ว ดอกสีชมพูผลิบานสะพรั่งทั่วทั้งต้นก่อนแตกใบ ชาวญี่ปุ่นอยู่คู่กับซากุระมานับพันปี มีความเชื่อเก่าแก่ว่า ซากุระจะคุ้มครองท้องนาของเกษตรกร การผลิดอกซากุระยังเป็นสัญญาณการปลูกข้าวฤดูใหม่ และเป็นเวลาของการออกเรือจับปลา ทำให้ซากุระอยู่ในทุกอณูของชีวิต และผนึกแน่นในจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น จนยากที่จะจินตนาการ หากบางพื้นที่ของญี่ปุ่น ต้องสูญเสียดอกไม้ที่สะท้อนถึงชนชาตินี้ไปตลอดกาล.-สำนักข่าวไทย