บราซิเลีย 29 ต.ค.- คณะนักวิทยาศาสตร์ในบราซิลเตรียมปล่อยยุงที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็ม) ออกไปกำจัดยุงลายในธรรมชาติที่เป็นพาหะนำโรคเขตร้อนอย่างไข้ซิกา ไข้เลือดออกเดงกี่ ไข้เหลือง ไข้ชิคุนกุนยา
คณะนักวิทยาศาสตร์เผยว่า ยุงจีเอ็มจะไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในธรรมชาติ ซึ่งจะมียุงลายรวมอยู่ด้วย ทำให้ลูกยุงที่เกิดมามีความบกพร่องทางพันธุกรรมและตายลงในเวลาอันสั้น ส่วนยุงจีเอ็มก็จะตายเองหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ อ๊อกซิเทก บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการควบคุมแมลงของอังกฤษเผยว่า โรงงานที่เมืองปิราซิคาบาในรัฐเซาเปาโลสามารถผลิตยุงจีเอ็มได้สัปดาห์ละ 60 ล้านตัว เป็นโรงงานผลิตยุงจีเอ็มแห่งแรกของโลก ผลการทดลองภาคสนาม 5 ครั้งระหว่างปี 2554-2557 ที่ปานามา หมู่เกาะเคย์แมนและรัฐบาเยีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลพบว่า ประชากรยุงลายในธรรมชาติลดลงถึงร้อยละ 90 ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายจากทางการบราซิล และยังไม่มีผลการศึกษาทางระบาดวิทยาว่าผู้ป่วยโรคที่มียุงเป็นพาหะมีจำนวนลดลงหรือไม่ แต่นายกเทศมนตรีเมืองปิราซิคาบาที่มีประชากร 360,000 คนได้ลงนามข้อตกลง 4 ปี มูลค่า 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 38.52 ล้านบาท) กับบริษัทแล้ว โดยในช่วงแรกจะปล่อยยุงจีเอ็มสัปดาห์ละ 10 ล้านตัว
สถิติของกระทรวงสาธารณสุขบราซิลเผยว่า ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี่แล้วเกือบ 1.4 ล้านคน เทียบกับปีที่แล้วทั้งปีที่พบ 1.6 ล้านคน ส่วนไข้ซิกาที่เริ่มระบาดตั้งแต่ปลายปีก่อน พบผู้ป่วยแล้ว 174,000 คนในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้.-สำนักข่าวไทย