เจนีวา 24 ม.ค. – องค์การอนามัยโลกเรียกร้องทั่วโลกช่วยกันปกป้องเด็กให้พ้นจากยาน้ำแก้ไอที่ปนเปื้อนสารเคมี ขณะที่มีเด็กกว่า 300 คนเสียชีวิตหลังรับประทานยาน้ำแก้ไอเปื้อนสารเคมีเมื่อปีก่อน
องค์การอนามัยโลกระบุในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ตามเวลาในสวิตเซอร์แลนด์ว่า ในปี 2565 มีเด็กกว่า 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศแกมเบีย อินโดนีเซีย และอุซเบกิสถาน เสียชีวิตจากภาวะไตวายเฉียบพลันที่เชื่อมโยงกับการรับประทานยาน้ำแก้ไอที่ปนเปื้อนสารไดเอทีลีนไกลคอลและเอทิลีนไกลคอลในปริมาณสูง สารทั้งสองชนิดนี้เป็นสารเคมีเป็นพิษที่ใช้เป็นตัวทำละลายและเป็นสารต้านการแข็งตัว ซึ่งไม่ควรนำมาใช้ในยา นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังระบุว่า ฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเต เซเนกัล และกัมพูชา อาจได้รับผลกระทบจากยาที่ปนเปื้อนสารเคมี เพราะประเทศเหล่านี้อาจมียาน้ำแก้ไอจำพวกนี้วางขายอยู่ในท้องตลาด และเรียกร้องให้สมาชิกขององค์การอนามัยโลก 194 ประเทศช่วยกันป้องกันอันตรายถึงชีวิตจากการรับประทานยาดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศแจ้งเตือนในเดือนตุลาคมปีก่อนและต้นเดือนนี้ให้ประเทศต่าง ๆ ยกเลิกการขายยาน้ำแก้ไอที่ผลิตโดยไมเดน ฟาร์มาซูติคัลส์ (Maiden Pharmaceuticals) และมาเรียน ไบโอเทค (Marion Biotech) ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของอินเดีย ที่เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กในแกมเบียและอุซเบกิสถาน นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังแจ้งเตือนให้ระวังอันตรายจากยาน้ำแก้ไอที่ผลิตโดย 4 บริษัทเวชภัณฑ์ของอินโดนีเซีย ได้แก่ พีที ยารินโด ฟาร์มาทามา (PT Yarindo Farmatama) พีที ยูนิเวอร์แซล ฟาร์มาซูติคัล (PT Universal Pharmaceutical) พีที โคนิเม็กซ์ (PT Konimex) และ พีที เอเอฟไอ ฟาร์มา (PT AFI Pharma) โดยที่ยาน้ำแก้ไอเหล่านี้เป็นยาที่วางจำหน่ายในอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี บริษัทเวชภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับยาน้ำแก้ไอที่ทำให้เด็กเสียชีวิตได้ปฏิเสธว่ายาที่ผลิตขึ้นไม่มีส่วนผสมของสารเคมี หรือไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น ในขณะที่กำลังมีการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่.-สำนักข่าวไทย