จาการ์ตา 20 ต.ค. – กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซียเผยว่า พบยาน้ำเชื่อมบางชนิดที่วางจำหน่ายในอินโดนีเซียมีส่วนประกอบของสารที่เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็ก 99 คนจากภาวะไตวายเฉียบพลันนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
นายบูดี กูนาดี ซาดิคิน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย เผยวันนี้ว่า อินโดนีเซียตรวจพบสารเอทิลีนไกลคอล (ethylene glycol) และไดเอทิลีนไกลคอล (diethylene glycol) ในยาน้ำเชื่อมที่บ้านของเด็กที่มีภาวะไตวายเฉียบพลัน ทั้งยังระบุว่า ผู้ปกครองได้ให้เด็กที่มีภาวะไตวายเฉียบพลันและมีอายุต่ำกว่า 5 ปี รับประทานยาน้ำเชื่อมดังกล่าว ซึ่งไม่ควรมีส่วนผสมของสารทั้งสองชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่แม้แต่เพียงเล็กน้อย ขณะที่โฆษกกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียไม่ได้เปิดเผยว่ามีเด็กที่มีภาวะไตวายเฉียบพลันกี่คนที่รับประทานยาเหล่านี้ โดยระบุว่า ทางการอินโดนีเซียกำลังอยู่ในระหว่างการสืบสวนเรื่องดังกล่าวอยู่ ขณะนี้ อินโดนีเซียพบเด็กที่มีภาวะไตวายเฉียบพลันทั้งหมด 206 คน และมีเด็กเสียชีวิต 99 คนนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ สารเอทิลีนไกลคอลและไดเอทิลีนไกลคอลเป็นพิษและอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศห้ามจำหน่ายยาน้ำเชื่อมทุกชนิดเป็นการชั่วคราวเมื่อวันพุธ และเร่งตรวจสอบอย่างใกล้ชิดว่ายาน้ำเชื่อมลดไข้ในเด็กที่วางขายในอินโดนีเซียมีส่วนประกอบของสารเอทิลีนไกลคอลและไดเอทิลีนไกลคอลหรือไม่ การเปิดเผยเรื่องดังกล่าวของอินโดนีเซียมีขึ้นในขณะที่รัฐบาลแกมเบียกำลังสืบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เด็ก 70 คนเสียชีวิตจากภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับยาแก้ไอและยาลดไข้ 4 ขนานที่ผลิตโดยเมเดน ฟาร์มาซูติคัลส์ บริษัทเวชภัณฑ์ของอินเดีย อย่างไรก็ดี สำนักงานอาหารและยาของอินโดนีเซียระบุว่า ยาดังกล่าวไม่ได้มีวางจำหน่ายในอินโดนีเซีย.-สำนักข่าวไทย