กรุงเทพฯ 1 ก.ค.- ศาลอุทธรณ์พิพากษาเเก้โทษ ให้ประหารชีวิต “พ.ต.ท.บรรยิน” อดีต รมช.พาณิชย์ จำเลยที่ 1 และ “ณรงค์ศักดิ์” จำเลยที่ 3 ในคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 4 คน จำคุกตลอดชีวิต เเละยกฟ้องในบางมาตรา
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 65 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาอดีตเจ้าของสำนวนโอนหุ้น “เสี่ยชูวงษ์” หมายเลขดำ อท.69/2563 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ เป็นโจทก์เเละโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต รมช.พาณิชย์, นายมานัส ทับทิม, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์, นายชาติชาย เมณฑ์กูล, นายประชาวิทย์ หรือตูน ศรีทองสุข และ ด.ต.ธงชัย หรือ ส.จ.อ๊อด วจีสัจจะ ทั้งหมดภูมิลำเนา จ.นครสวรรค์ เป็นจำเลยที่ 1-6ในความผิด 9 ข้อหา ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 289, ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไปถึงแก่ความตาย มาตรา 309, 313, ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มาตรา 310, ฐานร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มาตรา 139, 140, ฐานเป็นซ่องโจร โดยสมคบกันเพื่อกระทำผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต มาตรา 210, ฐานร่วมกันพยายามข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทำการใดโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มาตรา 213, ฐานร่วมกันซ่อนเร้น ทำลายศพเพื่อปิดบังการตายและสาเหตุการตาย มาตรา 199, ฐานร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นเพื่ออำพรางคดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63 ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ผู้อื่นจนถึงแก่ความตายฯ ลงโทษประหารชีวิต, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 289(4)(7) ลงโทษประหารชีวิต, ฐานแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานฯ จำคุก 1 ปี สวมเครื่องแบบเจ้าพนักงานฯ จำคุก 1 ปี, ซ่อนเร้นทำลายศพฯ จำคุก 4 ปี แต่จำเลยที่ 1 ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 ทุกข้อหาคงจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้นตลอดชีวิตสถานเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานสนับสนุนให้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 4-6 มีความผิดฐานร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายฯ (เรียกค่าไถ่) ลงโทษประหารชีวิต แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต โดยจำเลยที่ 1 ให้นับโทษต่อจากคดีโอนหุ้นจำคุก 8 ปี ของศาลอาญากรุงเทพใต้ส่วนจำเลยที่3 กระทำผิดฆ่าโดยไตร่ตรอง (คนลงมือ) พิพากษาประหารชีวิต เเละกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตาย พิพากษาประหารชีวิต ให้การเป็นประโยชน์ลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต
ต่อมาโจทก์ โจทก์ร่วม จําเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ยื่นอุทธรณ์ จําเลยที่ 3 ไม่อุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนเเล้ว เห็นว่าอาศัยพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว เป็นพยานหลักฐานสําคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงและพิพากษาลงโทษจําเลยทั้งหกได้ โดยไม่มีความจําเป็นต้องอาศัยคํารับของจําเลยอีก ทั้งจําเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพหลังจากได้ตรวจพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่า จําเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ยอมรับข้อเท็จจริง จําเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา เพราะจํานนต่อพยานหลักฐาน หาใช่รับสารภาพ เพราะสํานึกในความผิด คํารับสารภาพเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 อันจะพึงลดโทษให้ได้ ที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้แก่จําเลยทั้งหกนั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาเเก้เป็นประหารชีวิตจำเลยที่ 1 กับ 3 ส่วนจำเลยที่ 2, 4-6 จำคุกตลอดชีวิต เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และที่ 3 แล้ว ไม่อาจนำโทษกระทงอื่นมารวมหรือนับต่อจากโทษคดีอื่นหรือเพิ่มโทษได้อีก ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น.-สำนักข่าวไทย