ทำเนียบรัฐบาล 27 ธ.ค.-ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ระบุยอดติดโอไมครอนก้าวกระโดด ขณะเดียวกันยังพบคลัสเตอร์หลายจังหวัดต่อเนื่อง แนะประชาชนเร่งรับวัคซีนเข็ม 3
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 : ศบค.) แถลงว่า วันนี้(27 ธ.ค.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,437 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,845 ราย โดย 10 จังหวัดที่มีอันดับติดเชื้อได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครศรีธรรมราช ชลบุรี ขอนแก่นสมุทรปราการ เชียงใหม่ ตรังฉะเชิงเทรา สงขลา และสุราษฎร์ธานี ส่วนยอดผู้เสียชีวิต 18 ราย มีผู้รักษาอยู่ในระบบ 34,436 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 179 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตร้อยละ 95 เป็นกลุ่มคนอายุเกิน 60 มีโรคประจำตัวและป่วยเรื้อรัง
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า การรายงานสายพันธุ์โอไมครอนจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยตัวเลขเมื่อศุกร์ที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 205 ราย แต่วันนี้(27 ธ.ค.) พุ่งเป็น 514 ราย ถือว่าก้าวกระโดด จึงต้องเน้นย้ำว่าการพบสายพันธุ์โอไมครอน 2 ใน 3 เป็นการเดินทางเข้ามาในประเทศ แต่พบว่าหนึ่งในสามเป็นการติดเชื้อภายในประเทศโดยคลัสเตอร์ที่รายงานจากกรมควบคุมโรคได้แก่คลัสเตอร์ที่จ.กาฬสินธุ์ที่เป็นสามีภรรยาเดินทางจากเบลเยียม
“เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมและมีประวัติไปรับประทานอาหาร ในผับตลาดโรงสีเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นเหตุให้นอกจากผู้ติดเชื้อสองรายแรกแล้วคือสามีภรรยาที่เดินทางจากเบลเยียม ทำให้พบว่า นักดนตรี พนักงานร้าน พนักงานเสิร์ฟและผู้ใช้บริการคนอื่นติดเชื้อรวม 21 ราย และนอกจากคลัสเตอร์กาฬสินธุ์แล้ว ยังเชื่อมโยงไปถึงการติดเชื้อที่จังหวัดอุดรธานี อีก 6 ราย และลำพูน 4 ราย” พญ.อภิสมัย กล่าว
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า พบคลัสเตอร์โอไมครอนที่จังหวัดปัตตานี 7 รายซึ่งมีประวัติสัมผัสการติดเชื้อจากกลุ่มผู้แสวงบุญที่กลับจากตะวันออกกลาง และยังพบผู้แสวงบุญติดเชื้อ้พิ่มในหลายจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานีและ กรุงเทพฯ ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอนทั้งหมดหรือไม่ แต่เบื้องต้นพบ 2 รายแล้วในกรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อที่ภูเก็ต และกระบี่อีกจังหวัด ละ 2 ราย เนื่องจากเป็นแม่บ้านทำงานในโรงแรมที่มีผู้ติดเชื้อพักอาศัย และอีกหนึ่งคลัสเตอร์ที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งผู้สัมผัสคนแรกติดเชื้อมาจากเดนมาร์ก
“กระทรวงสาธารณสุขจะติดตามและรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนได้วางมาตรการป้องกันตัว โดยสิ่งแรกที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำ ซึ่งการติดเชื้อโอไมครอนมักไม่แสดงอาการ เช่น จากตัวอย่าง 41 รายพบว่ามีอาการน้อยมาก โดยพบว่า 54% คืออาการไอ 37% คือการเจ็บคอและ 29% พบมีไข้ จึงพบว่าการติดเชื้อโอไมครอนมักแสดงอาการต่อทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ใช่ลงปอด ดังนั้น การติดเชื้อสายพันธุ์นี้ ผู้ติดเชื้ออาจจะปะปนมาในสถานที่ต่าง ๆ จึงต้องระมัดระวัง ขอย้ำให้สวมหน้ากากอนามัยหรือสวมสองชั้นเพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ” พญ.อภิสมัย กล่าว
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า ขณะนี้ทั้งไทยและต่างประเทศมีมาตรการตอบโต้สายพันธุ์โอไมครอน โดยแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนบูธตอร์เข็มสาม ซึ่งมีรายงานสอดคล้องกันว่าแอสต้าเซนิกาป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนได้ หรือจะเป็น โมเดอร์นาหรือไฟเซอร์ก็ได้ ขณะนี้ประเทศไทยมียอดผู้ฉีดเข็มสามน้อย จึงขอความร่วมมือประชาชนว่าถ้าฉีดเข็มหนึ่งเข็มสองเป็นชิโนแว็กซ์หรือชิโนฟาร์มสามารถไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มสามได้โดย เว้นระยะหนึ่งเดือน ให้กระตุ้นเข็มสามได้เลย แต่หากรับเอสตร้าเซนเนกา ให้เว้นระยะ 3 เดือนแล้วไปรับเข็มกระตุ้นได้
“สำหรับประชาชนที่ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ขอให้ศึกษารายละเอียดก่อนรับเข็มกระตุ้น โดยในกรุงเทพมหานครมีจุดบริการวัคซีนหลายที่ รวมถึงสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งในแต่ละที่ขอความร่วมมือว่าไม่รับวอล์คอิน จึงขอให้ลงทะเบียนล่วงหน้า โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครให้เข้าไปดูในเว็บไซต์กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่นี้ ถ้าใครไม่ได้ไปต่างจังหวัด ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนได้” พญ.อภิสมัย กล่าว ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า การประชุมศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วงบุคลากรทางการแพทย์ จึงขอให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 เพราะการแพร่ ระบาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งปกป้องระบบสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์พร้อมรับมือได้.-สำนักข่าวไทย