สธ. 24 ธ.ค.- กรมวิทย์ฯ แจงสาเหตุโอไมครอนแพร่เร็วกว่าเดลตา เพราะเชื้ออยู่ทางเดินหายใจส่วนบนและไม่จู่โจมปอด พร้อมชี้สัดส่วนคนเดินทางเข้าไทยติดเชื้อถึง 53% และยังมีคลัสเตอร์ใหม่แสวงบุญที่ภาคใต้ รอการสอบสวนโรค
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์โควิด -19 สายพันธุ์โอไมครอน ว่า ทั่วโลกพบเชื้อโอไมครอนแล้วใน 106 ประเทศ ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อเกือบครบทุกรัฐแล้ว ทั้งนี้โอไมครอนยังคงมี 3 สายพันธุ์ย่อย คือ BA1, BA2 และ BA3 ตอนนี้พบการระบาดมากที่สุด คือ BA1 และจากการติดตามข้อมูลจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ดูเชื้อที่ทำปฏิกิริยากับเซลล์ของร่างกาย พบว่าโอไมครอนก่อโรคและมีเชื้อชุกชุมที่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน จึงเป็นสาเหตุทำให้แพร่เร็วกว่าเดลตา ถึง 70 เท่า แต่เมื่อดูแลลึกลงไปถึงเนื้อปอดกลับไม่ทำอันตรายเหมือนกับเดลตา ส่วนอัตราการติดเชื้อในครัวเรือน พบว่า เดลตา มีอัตราแพร่ 10.3% ขณะที่โอไมครอนพบ 15.8%
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนอัตราการนอนรักษาตัวในรพ. พบว่า เดลตา มีอัตราการนอนถึง 50% และนอนรักษามากกว่า 1 วัน ถึง 61% ส่วนโอไมครอน นอนรพ. 20-25% และนอนรักษามากกว่า 1 วัน 40-45% ส่วนอาการหนักในเชื้อโอไมครอน ทำให้เกิดอาการหนัก 21% ส่วนเชื้ออื่นอาการหนัก 40% ส่วนการติดตามเชื้อโควิดในไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่พบการติดเชื้ออัลฟา เบตาแล้ว ขณะนี้พบเดลตา 732 คน และโอไมครอน 142 คน บวกว่าการพบคนติดเชื้อไปก่อนหน้านี้อีก 63 คน ทำให้มียอดรวม 205 คน และหากดูภาพรวมของประเทศพบการติดเชื้อโอไมครอนแล้ว 16% แยกเป็นรายภาคกทม. 40% เพราะเป็นพื้นที่ส่งตัวอย่างเชื้อตรวจ และภูมิภาค 8%
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้พบการติดเชื้อโอไมครอนในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 53% จากเดิมพบ 1 ใน 4 ของผู้เดินทาง สำหรับผู้ติดเชื้อโอไมครอนในไทย 205 คน พบเป็นคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 180 คน และเป็นคนไทยที่ไม่มีประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศเลย 25 คน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยคลัสเตอร์ที่ติดเชื้อในประเทศที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้ คือ คลัสเตอร์ 2 สามีภรรยา จ.กาฬสินธุ์ มีการติดเชื้อโอไมครอน 22 คน และยังพบว่ามีคลัสเตอร์แสวงบุญในพื้นที่ภาคใต้อีก ขณะนี้รอการสอบสวนโรคอย่างชัดเจนก่อน .-สำนักข่าวไทย