รัฐสภา 17 พ.ย. – ทั้ง ส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนใหญ่ลงมติไม่รับหลักการ มี ส.ว.เพียง 2 คนที่รับหลักการ ซึ่งหากเสียง ส.ว.ไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 83 เสียง ก็จะทำให้ร่างนี้ถูกตีตกไป
จากการติดตามผลการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนด้วยวิธีการขานชื่อเป็นรายบุคคล พบว่าทั้ง ส.ว. และ ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ลงมติไม่รับหลักการ แม้จะมี ส.ว. 2 คน คือ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และนายมณเฑียร บุญตัน ที่ลงมติรับหลักการ แต่จำนวนเสียงที่ลงมติไม่รับหลักการล่าสุดก็มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภาแล้ว อีกทั้ง ส.ว.ที่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้ มีเพียง 2 เสียง ไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 83 เสียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น หากเสียงของ ส.ว.มีไม่ถึงที่กำหนดไว้ ร่างฉบับนี้ก็ต้องถูกตีตกไป
นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า มีหลายมาตราเป็นเรื่องดี แต่บางมาตราที่แหลมคม อาจมีปัญหาในชั้นรับหลักการ เพราะไม่สามารถแก้ไขได้ในชั้นกรรมาธิการได้ อย่างบัตรเลือกตั้งใบเดียว ดังนั้น หากเสนอร่างมัดรวมเช่นนี้ จึงรับหลักการไม่ได้ และเชื่อว่าหากร่างนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็คงไม่เพิ่มอุณหภูมิทางการเมือง เพราะเป็นการเสนอกฎหมายปกติ หากภาคประชาชนต้องการเสนอประเด็นใดก็ควรแยกร่างออกมา ไม่ควรมัดรวม เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจง่ายขึ้น
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า แม้จะเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่สาระในหลายประเด็นไม่ชัดเจน และไม่ทำให้เกิดดุลภาพ โดยเฉพาะการยกเลิก ส.ว.
ด้านพรรคภูมิใจไทย แม้จะมีรายงานว่า จะลงมติงดออกเสียง แต่ก็พบว่า ส.ส.ทุกคนในพรรค ลงมติไม่รับหลักการ เช่นเดียวกับพรรคพลังธรรมใหม่ที่ไม่รับหลักการ เพราะมองว่าเป็นร่างม้าไม้เมืองทรอย ที่แอบแฝงซ่อนเร้น หากลงมติรับร่าง อนาคตอาจเกิดเผด็จการรัฐสภา และกระทบ 3 สถาบันหลักของชาติ. – สำนักข่าวไทย