ทำเนียบรัฐบาล 3 พ.ย.-ศบค.เผยภาพรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ส่วน จ.เชียงใหม่ ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดหลังพบติดเชื้อสูง ขณะใต้ตัวเลขลดลง
พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 : ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,679 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,136 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,864 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 272 ราย มาจากเรือนจำ 536 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 8,482 ราย อยู่ระหว่างรักษา 97,585 ราย อาการหนัก 2,205 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 483 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,935,442 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,818,463 ราย
ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 772 ราย ปัตตานี 484 ราย สงขลา 454 ราย ยะลา 326 ราย ชลบุรี 324 ราย เชียงใหม่ 322 ราย ตรัง 249 ราย สมุทรปราการ 242 นราธิวาส 207 ราย และนครศรีธรรมราช 196 ราย ภาพรวมในประเทศลดลงทุกพื้นที่ รวมถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตัวเลขลดลง เหลือเพียง จ.ปัตตานี ที่ตัวเลขยังทรงตัว ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเร่งเข้าฉีดวัคซีน ทั้งนี้ พบคลัสเตอร์ใหม่ ๆ หลายพื้นที่ อาทิ จ.ชลบุรี พบคลัสเตอร์ทหารเกณฑ์ของกองทัพเรือ จ.เชียงใหม่ พบคลัสเตอร์แคมป์คนงานและชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน พบคลัสเตอร์งานศพและหอพักนักเรียน จ.จันทบุรีพบต่างชาติลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย ขณะที่คลัสเตอร์เรือนจำพบหลายจังหวัด
พญ.สุมณี กล่าวว่า ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยวันที่ 3 พ.ย. ฉีดเพิ่มเติม 787,976 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 77,014,092 โดส ซึ่งตั้งเป้าจะฉีดสะสมให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ ปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัดตามเป้าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรได้แล้ว 16 จังหวัด เหลือเพียง จ.หนองคายที่ฉีดได้เพียง 47.3% ส่วนการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนและนักศึกษาอายุ 12-17 ปี ขณะนี้ฉีดไปแล้วประมาณ 2.4 ล้านคน คิดเป็น 55.4 % จากเป้าหมาย 4.5 ล้านคน
ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าวว่า ส่วนยอดเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 56 ราย เป็นชาย 28 ราย หญิง 28 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 42 ราย มีโรคเรื้อรัง 11 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ในกทม. 7 รายมียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 19,394 ราย
พญ.สุมณี กล่าวว่า สำหรับพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวหรือพื้นที่สีฟ้า ที่อยากให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากพบการติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะที่อำเภอแม่ริม อำเภอเมือง อำเภอแม่แตง และอำเภอดอยเต่า ที่ประเมินสถานการณ์ พบว่าเป็นการติดเชื้อในลักษณะวงกว้าง ระบาดในระดับชุมชน ครอบครัวและตลาดสด ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ซึ่งตลาดที่ต้องเฝ้าระวังมี 4 แห่ง คือ ตลาดเมืองใหม่ ตลาดวโรรส ตลาดประตูเชียงใหม่ และตลาดสันป่าข่อย จึงกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการในตลาด
“ผู้ที่จะเข้าใช้บริการต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เข้มงวดการจัดสถานที่ ลดความแออัด และให้ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด รวมถึงต้องเข้มงวดเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวอื่น ๆ โดยยังห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารและภัตตาคาร รวมถึงยังจำกัดเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้แค่เวลา 21.00 น.” พญ.สุมณี กล่าว.-สำนักข่าวไทย