กทม.30 ส.ค.-ผู้ว่าฯ กทม.ตรวจความพร้อมเตรียมรับมือฝนหนักถึง 5 ก.ย.นี้ ลดผลกระทบให้ประชาชน ขณะที่เขตลาดกระบังเร่งสูบน้ำลงคลอง เปิดบานประตูระบายน้ำเพิ่ม ลดระดับน้ำในคลองประเวศบุรีรัมย์
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน และเมื่อวันที่ 26-29 ส.ค.ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีฝนตกหนักมากกว่า 150 มิลลิเมตร ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพตะวันออก มีฝนตกหนักสูงสุดถึง 189 มิลลิเมตร ในพื้นที่เขตหนองจอกและลาดกระบัง ซึ่งในการแก้ไขปัญหาได้มีดำเนินการพร่องน้ำในคลอง เปิดประตูระบายน้ำ จัดเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมพร้อมเจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำในจุดที่มีน้ำท่วมขัง เป็นต้น จากสถิติฝนสะสมวันที่ 29 ส.ค. ของปี 64 พบว่า มีฝนถึง 1,176 มิลลิเมตร สูงกว่า ปี 63 ที่มีฝน 950 มิลลิเมตร อีกทั้งสูงกว่าค่าเฉลี่ยสะสม 30 ปีของวันเดียวกัน (29 ส.ค.) ที่มีฝน 1,026.4 มิลลิเมตร
อย่างไรก็ตาม พื้นที่กรุงเทพฯ จะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องโดยในช่วงวันที่ 30 ส.ค.–5 ก.ย. 64 กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศว่าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีฝนตกหนัก 60–70% ของพื้นที่ ซึ่ง กทม.ได้เตรียมความพร้อมรับมือและเฝ้าระวังน้ำท่วมในพื้นที่อย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบระบายน้ำหลักในพื้นที่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม.ได้ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ห่างไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่ทะเลได้โดยเร็ว ปัจจุบันมีอุโมงค์ระบายน้ำแล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ครอบคลุมพื้นที่ 135.5 ตารางกิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 แห่ง และหาก กทม.ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่อีก 4 แห่ง ครบตามแผนงานที่จะดำเนินการในปี 2563 และ 2564 กทม.จะมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง ประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 425 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ครอบคลุมพื้นที่รวม 478.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ทั้งจากน้ำฝนที่ตกในพื้นที่และน้ำหลากจากพื้นที่นอกคันป้องกันครอบคลุมพื้นที่สำคัญของกรุงเทพฯได้เกือบทั้งหมด
สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นั้น กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งในปี 64 จุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ในความดูแลของสำนักการระบายน้ำ ลดลงจากปี 63 โดยมีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 47 จุด ซึ่งได้กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีการแจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะตั้งแต่ก่อนฝนตก ระหว่างฝนตก และหลังฝนตก เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมในการรับมือฝน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ฝนตกหนักอาจจะต้องมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงป้องกันสิ่งของได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ได้กำชับให้เร่งระบายน้ำในจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งหากการระบายน้ำเข้าสู่ระบบระบายน้ำหลักไม่สามารถทำได้เต็มกำลังก็ให้เร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำรองหรือจุดย่อยแทนเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น ช่วยลดผลกระทบให้ประชาชน
ด้านนายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าฯกทม.ตรวจการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตลาดกระบัง โดยมีนายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัด กทม.นายธนะสิทธิ์ เมธพันธุ์เมือง ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะ
รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกในหลายพื้นที่และต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ระดับน้ำในคลองหลายแห่งสูงขึ้น โดยเฉพาะคลองประเวศบุรีรัมย์ คลองหนองตะกร้าและคลองหัวตะเข้ ส่งผลให้เกิดน้ำขังรอการระบายบริเวณถนนลาดกระบัง สำนักงานเขตลาดกระบังจึงได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม พร้อมทั้งทำการบล็อกน้ำโดยนำกระสอบทรายปิดท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำไหลกลับเข้าถนน จากนั้นทำการสูบน้ำบนถนนระบายลงสู่คลองหนองตระกร้าและคลองหัวตะเข้ ขณะนี้น้ำท่วมขังลดระดับลงแล้ว
พร้อมกันนี้ได้ประสานสำนักการระบายน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำในคลองประเวศบุรีรัมย์ โดยให้ยกบานประตูระบายน้ำลาดกระบังให้สูงขึ้นกว่าเดิมเพื่อลดระดับน้ำในคลอง รวมทั้งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำในคลองและรองรับปริมาณฝนที่อาจตกมาอีก
สำหรับชุมชนและหมู่บ้านในพื้นที่เขตที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมขัง อาทิ ชุมชนลำพุทรา ชุมชนหลังวัดลานบุญ หมู่บ้านพูนสินธานี2 และหมู่บ้านพูนสินธานี 3 เบื้องต้นได้มอบถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ประกอบด้วย เครื่องอุปโภค บริโภค น้ำดื่ม หน้ากากอนามัย สเปรย์แอลกอฮอล์ พร้อมทั้งปรับปรุงห้องน้ำและห้องสุขา รวมทั้งมอบไม้พาเลส(ไม้ลัง) สำหรับยกระดับเป็นทางเดินเข้า-ออกบ้านและชุมชน รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมภายในหมู่บ้านเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่คลอง นอกจากนี้ได้มอบหมายสำนักงานเขตสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม หากพบชุมชนหรือหมู่บ้านได้รับผลกระทบให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน .-สำนักข่าวไทย