กทม. 12 ก.พ. – คนกรุงเทพฯ เตรียมรับมือ มีข้อมูลว่าจะมีน้ำทะเลหนุนอีก 4 รอบ ช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ กรมชลประทานเพิ่มระบายน้ำจากเขื่อนช่วยลดความเค็มจนกระทบการผลิตน้ำประปา
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงปัญหาน้ำเค็มกระทบคุณภาพน้ำประปาในแม่น้ำเจ้าพระยา ยอมรับว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จะยังมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูงอีก 4 ครั้ง โดยสูงสุดในช่วงวันที่ 10-19 กุมภาพันธ์ 25-28 กุมภาพันธ์ 9-12 มีนาคมและ 26-28 มีนาคม จากนั้นระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงในเดือนเมษายน แต่จะยังมีสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอยู่บ้าง อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ คาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน กรมชลประทานปรับแผนการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาและผันน้ำจาก 2 เขื่อนลุ่มน้ำแม่กลอง พร้อมประเมินน้ำต้นทุนที่จะต้องมีน้ำสำรองเพียงพอถึงต้นฤดูฝน ให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้กระทบการผลักดันน้ำเค็มจนเกิดน้ำประปากร่อยบางช่วงเวลาอย่างที่ผ่านมาได้อีก
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ระดับในเเม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากอ่าวไทยมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น จึงสั่งการให้ชลประทานในพื้นที่ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งเเต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ จากอัตรา 55 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พร้อมเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนพระรามหก จากอัตรา 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะทยอยลดลงเหลือ 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทุกแห่งที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงสถานีสูบน้ำสำแล ให้งดการรับน้ำหรือสูบน้ำในระยะนี้ เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดและมีประสิทธิภาพ และขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝน. – สำนักข่าวไทย