กทม. 19 พ.ย.-กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังเดินหน้าหลังจากรัฐสภารับหลักการวาระแรกไปเมื่อวานนี้ คาดนายวิรัช รัตนเศรษฐ จะได้นั่งเป็นประธานกรรมาธิการ ทั้งนี้แต่กว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ยังต้องเจออีกหลายด่าน โดยเฉพาะการทำประชามติ ซึ่งคาดจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2565
ที่ประชุมรัฐสภารับหลักการวาระแรกของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือญัตติที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลเป็นผู้เสนอซึ่งทั้ง 2 ฉบับได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง และ มีส.ว.ลงมติรับหลักการ 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว ส่วนอีก 5 ญัตติที่มีการเสนอรวมถึงร่างของไอลอว์ถูกตีตกไป
ทั้งนี้มีการตั้งกรรมาธิการ 45 คนขึ้นพิจารณา ตามสัดส่วนประกอบด้วย สมาชิกวุฒิสภา 15 คน อาทิ นายกล้าณรงค์ จันทิก นายสมชาย แสวงการ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 8 คน อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร พรรครพลังประชารัฐ 8 คน อาทิ นายวิรัช รัตนเศรษฐ นายวิเชียน ชวลิต นายไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคภูมิใจไทย 4 คนอาทินายศุภชัย ใจสมุทร พรรคก้าวไกล 3 คน อาทินายรังสิมันต์ โรม พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน อาทิ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติและพรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคละ 1 คน โดยจะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ และมีการคาดการณ์บุคคลที่จะได้เข้ามานั่งทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม คือนายวิรัช รัตนเศรษฐ
สำหรับรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการ คือร่างที่ 1 ฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มาจากเลือกตั้งทางตรง 200 คน
ส่วนร่างที่ 2 ที่รัฐบาลเสนอ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ 200 คน เลือกตั้งทางตรง 150 คน เลือกทางอ้อม 50 คน
ขณะที่ร่างของทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เห็นตรงกันว่า ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
สำหรับขั้นตอนในการพิจารณา ไม่ได้กำหนดตายตัวว่ากรรมาธิการจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน ขึ้นอยู่กับการแปรญัตติของสมาชิก แต่คาดการณ์ว่า กรรมาธิการน่าจะพิจารณาเสร็จประมาณต้นเดือน มกราคม 2564 ก่อนเสนอให้รัฐสภาลงมติรายมาตราในวาระที่2 จากนั้นจะต้องเว้นไว้ 15 วันก่อนที่จะลงมติในวาระ 3 ที่คาดว่าน่าจะมีขึ้นประมาณปลายเดือนมกราคม 2564 หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะเป็นการลงมติแบบขานรายเรียงตามลำดับอักษรรายคน และต้อง ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และในจำนวนนั้นต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 82 เสียง และต้องมีเสียงฝ่ายค้าน อีก 20% ของสมาชิกที่มี หรือประมาณ 42 เสียง
ทั้งนี้หลังความเห็นชอบจากรัฐสภาวาระ 3 แล้ว ต้องส่งเรื่องให้กรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. เพื่อทำประชามติ โดยขณะนี้ยังไม่มี พ.ร.บ.ประชามติ ต้องรอที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาคาดว่าจะพิจารณาใน 1-2 สัปดาห์นี้ ซึ่งจะทำให้ประเมินได้ว่าน่าจะออกเสียงประชามติได้ในช่วงปลายเดือน มีนาคม 2564 หรือต้นเดือนเมษายน2564
หลังผ่านการทำประชามติ ต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ และเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาก็ต้องใช้เวลาในเลือก ส.ส.ร. ภายใน90 วันนับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้หลังมีการตั้ง ส.ส.ร.แล้วคาดว่ากระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีขั้นตอนทั้งการรับฟังความเห็น และอาจจะต้องทำประชามติอีกครั้ง คาดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือฉบับที่ 21 ประมาณต้นปี 2565.-สำนักข่าวไทย