ภูเก็ต 24 ส.ค.- พบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 12 ราย เหตุดินสไลด์ จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ระดมกำลังเร่งค้นหาผู้สูญหายอีก 1 ราย ขณะที่ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พร้อมสั่งตรวจสอบการก่อสร้างอาคารของวัดพระใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขานาคเกิด หลังปรากฏภาพว่าต้นทางดินสไลด์เกิดจากอาคารหลังหนึ่งของวัดดังกล่าว
เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากหลายหน่วยยังคงเร่งระดมสรรพกำลังและเครื่องมือหนักช่วยกันค้นหาร่างของผู้สูญหายที่คาดว่าอาจจมอยู่ใต้ดินโคลนและหินขนาดใหญ่ที่ถูกน้ำป่าพัดลงมาจากเทือกเขานาคเกิด ถล่มลงมาทับบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ห่างจากริมเชิงเขาระยะทางไกลสุดราว 300 เมตร โดยเช้านี้มีญาติเข้ามาแจ้งให้ทางการช่วยค้นหาครอบครัวเพิ่ม ทำให้ยอดของผู้สูญหาย ซึ่งเดิมแจ้งไว้ 1 คน ขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 3 คน แต่เมื่อสักครู่เจ้าหน้าที่พบร่างแล้ว 2 คน จึงทำให้เหลือผู้สูญหายอีก 1 คน
การค้นหาจึงต้องมีการปรับแผน โดยขยายพื้นที่ค้นหาจากเดิมที่พุ่งเป้าค้นหาบริเวณบ้านเช่าชั้นเดียวตรงจุดที่เคยพบศพชาวเมียนมาและคนไทยจำนวน 6 ศพ ไปค้นหาเพิ่มเติมตรงบริเวณบ้านเช่าและวิลล่าที่อยู่ใกล้ริมเขา แต่การค้นหาก็เป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะมีทั้งดินโคลน ต้นไม้ขนาดใหญ่ หินภูเขา เสาไฟฟ้าและซากปรักหักพังของบ้านเรือน กองทับถมรวมกันเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่มีการใช้สุนัขกู้ภัยเข้ามาช่วยค้นหาผู้สูญหายด้วย
ขณะที่เช้านี้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเดินทางลงพื้นที่จุดเกิดเหตุ โดยนายชาดาระบุว่า รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีผู้สูญเสียเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นได้สั่งการให้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้กับญาติของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ โดยในส่วนของศพชาวต่างชาติ ขณะนี้ได้มีการประสานไปยังกงสุล เพื่อให้มารับศพของผู้เสียชีวิตแล้ว
ขณะที่แผนป้องกันรับมือระยะสั้นได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่มทุกจุดของภูเก็ตในช่วงที่มีฝนตกหนัก และเร่งเดินหน้าสานต่อการสร้างฟรัดเวย์ รวมถึงผลักดันแผนจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยของภูเก็ต ร่วมกับจังหวัดอื่นๆ อีก 54 จังหวัด เข้าครม.โดยเร็วที่สุดตามแผนที่จังหวัดเคยเสนอไปกับนายเศรษฐา ทวีสิน ในครั้งที่ลงมาตรวจติดตามน้ำท่วมในภูเก็ตเมื่อ 2 เดือนก่อน ยืนยันว่าแม้จะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี แต่จะยังคงสานต่อไม่เปลี่ยนแปลง
ที่สำคัญ นายชาดายังสั่งการให้จังหวัดเร่งเข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างอาคารบนเทือกเขานาคเกิด หลังชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น เป็นเพราะการปลูกสร้างอาคารจำนวนมากของวัดพระใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขานาคเกิด เพราะมีการไปเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เดิมที่เคยเป็นป่าอุดมสมบูรณ์และในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน เคยมีร่องรอยการสไลด์ของดินในระหว่างการก่อสร้างมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงเท่ากับครั้งนี้ .-สำนักข่าวไทย