กทม. 30 ก.ค. – ศูนย์ต่อต้านทุจริต กทม.เผยผลสอบสวน พบเจ้าหน้าที่ กทม.ที่เกี่ยวข้อง 25 คน ใน 7 โครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย พบจัดซื้อแพงเกินจริง – ปรับรายละเอียดสเปคให้สูงขึ้น จ่อตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงสอบใน 120 วัน
นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.), นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และนางสาวเต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงาน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ร่วมแถลงความคืบหน้าการตรวจสอบ เรื่องทุจริตของกรุงเทพมหานครซึ่งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังสำหรับศูนย์กีฬาและศูนย์นันทนาการของกรุงเทพมหานคี จำนวน7 โครงการ ได้ดำเนินการตรวจสอบตามกรอบระยะเวลา 30 วัน โดยไม่มีการขยายระยะเวลา และได้เสนอรายงานการสืบสวนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
นายณัฐพงศ์พงศ์ เปิดเผยว่า จากการสืบสวนทั้งพยานบุคคลและเอกสารพบว่ามีการจัดซื้อแพงเกินจริงโดยราคาจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายสูงกว่าราคาที่เคยจัดซื้อในปีก่อนๆ และสูงกว่าราคาต้นทุนรวมค่าดำเนินการเป็นอย่างมาก ซึ่งรายละเอียด TOR พบว่ามีข้อกำหนดที่ไม่เปิดกว้างให้มีการเข้าเสนอราคาได้อย่างเท่าเทียม เช่น การกำหนดจำนวนสัญญากับภาครัฐในระยะเวลาจำนวนปี และยังมีการกำหนดคุณสมบัติของเครื่องออกกำลังกายที่เกินความจำเป็น นอกจากนี้จากการสืบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่เกี่ยวกับการทำโครงการซื้อเครื่องออกกำลังกาย การพิจารณางบงบประมาณการดำเนินการจัดซื้อจำนวน 25 ราย โดยหลังจากนี้จะมีการสอบสวนในเชิงลึกต่อไป
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปลัดกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งย้ายผู้บริหารที่มีชื่อเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อทั้ง 7 โครงการ ไปปฎิบัติหน้าที่ประจำสำนักปลัดกรุงเทพมหานครแล้ว เพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ ส่วนรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 25 ราย ในจำนวนนี้มี 1 ราย ได้ลาออกจากราชการไปแล้ว ซึ่งกลุ่มที่พบกระทำผิด เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในหน้าที่จัดทำโครงการ พิจารณางบ และจัดซื้อจัดจ้าง
ส่วนเอกชนที่เข้ามาเสนองานนั้น การเอาผิดอยู่นอกอำนาจของ กทม. แต่หากมีความผิดก็จะสามารถเอาผิดทางอาญาได้ หากพบว่าทำผิดจริง ตาม พ.ร.บ.ฮั้ว
ด้านนางสาวเต็มศิริ เปิเผยว่าขั้นตอนต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาผลการสืบสวนอย่างละเอียดเพื่อพิจารณาเสนอผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และคณะกรรมการจะดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ซึ่งเป็นขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด และจะพิจารณาลงโทษต่อไป ส่วนการดำเนินการทางอาญา หลังพบมีประเด็นข้อบกพร่องมีมูลส่อทุจริตจริง ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ก็จะส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป
ส่วนกรณีจากการสืบสวนพบว่ามีการจัดซื้อแพงเกินจริงถือว่ากรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายก็จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อพิจารณาให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อไปด้วย
ขณะที่นายเอกวรัญญู เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านการทุจริตของ กทม.ฯ ที่มีการตั้งขึ้นเมื่อ ปี 65 จนถึงปัจจุบัน มีการดำเนินงานเอาผิดผู้กระทำผิดไปแล้ว 29 ราย เป็นความผิดฐานการทุจริตโดยตรง 12 ราย ความผิดร้ายแรงอื่นๆ 17 ราย มีตั้งแต่ ระดับอำนวยการ ระดับหัวหน้าฝ่าย ความผิดเรียกรับสินบน 6 ราย ความผิดจากจัดซื้อทุจริต 3 ราย เป็นต้น
โฆษก กทม. ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ว่าฯ กทม.ย้ำให้ดำเนินการเรื่องทุจริตอย่างจริงจัง และเมื่อปรากฏความผิดขึ้น กระบวนการสืบสวนหลังส่งเรื่องให้ ศตท.กทม. ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ ให้เวลาไม่เกิน 30 วัน ต้องตรวจสอบให้เสร็จ และระหว่างนั้น ให้รายงานผลทุกๆ 7 วัน หมายถึงว่า กทม.เอาจริงเอาจัง แต่ต้องรอบคอบ และต้องมีผลสรุปออกมาให้ได้โดยเร็วไม่ยื้อเวลา. -417-สำนักข่าวไทย