สุราษฎร์ธานี 7 เม.ย.- นายกฯ ตรวจความคืบหน้าท่าเรือสำราญ เกาะสมุย ตั้ง KPI กรมเจ้าท่า – ก.ท่องเที่ยว นำเรื่องเข้า ครม. ก่อนสิ้นปี 67 หวังเป็นของขวัญให้ชาวเกาะสมุย ผลักดันสมุยติด TOP 10 การท่องเที่ยวครบวงจร ขณะที่ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติแห่รับ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ ณ แหลมนิคม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย, นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมคณะ นอกจากนี้ยังพบว่ามี สส. จ.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ รอให้การต้องรับนายกฯ
โดยนายกรัฐมนตรี ได้รับฟังรายงานความคืบหน้าของโครงการท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ เกาะสมุยจากนายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า และความเป็นมาของโครงการฯ รวมไปถึงสถานการณ์การขนส่งทางน้ำในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้มีการเปิดการขายสินค้าแบบดิวตี้ฟรี หรือเขตสินค้าปลอดอากร รวมไปเห็นพ้องกับข้อเสนอให้มีการจัดทำ Marina ที่เกาะสมุย และยังอยากให้สร้างจุดจอดเครื่องบินน้ำ (Sea plane) เพราะมองว่าจะทำให้เชื่อมโยงการท่องเที่ยวครบวงจร ทั้งทางเรือ ทางอากาศ สร้างรายได้มากขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ต้องตั้ง KPI การทำงานให้กรมเจ้าท่า ว่าต้องนำเรื่องเหล่านี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้ก่อนปลายปี 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องชาวเกาะสมุย พร้อมกับมอบหมายให้นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกสล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้เกาะสมุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวครบวงจรติด Top 10 ของโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการก่อสร้างถ้าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเรือใหญ่ไม่สามารถ เข้าเทียบท่าที่เกาะสมุยได้ จึงต้องไปจอดกลางทะเล และต่อเรือเล็กเข้ามายังเกาะ กรมเจ้าท่าจึงเสนอโครงการฯ ขึ้นมา ซึ่งเป็นโครงการบนพื้นที่ 47-3-6 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ และเอกชนบางส่วน ประกอบด้วยสะพานขึง อาคารบริการและที่จอดรถ ถนนสาธารณะ อาคารผู้โดยสาร 3 ชั้นและท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ และเรือยอร์ช มูลค่าลงทุน และค่าใช้จ่ายตลอดโครงการ จำนวน 12,172 ล้านบาท โดยจะให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนของรัฐและเพิ่มความคุ้มค่าในการดำเนินงาน 1,280 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามท่าเทียบเรือฯ ดังกล่าวจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยว 180,000 คนต่อปี รองรับเรือขนาดใหญ่ (Cruise) 120 เที่ยวเรือต่อปี และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวใช้จ่าย 5,000 บาทต่อคน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นดำเนินการ และเสนอโครงการ ปี 2567-2570 พร้อมศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ (EHIA) และการลงทุนร่วมกับเอกชน (PPP) ในปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่ ปี 2570-2572 ระยะเวลา 3 ปี และพร้อมให้บริการในปี 2572 โดยมีสัญญาเบื้องต้น 30 ปี
จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมถ่ายรูปกับประชาชนและกลุ่ม อสม. ที่มารอต้อนรับ พร้อมระบุว่า การลงพื้นที่ของตนเองในวันนี้ไม่ใช่การพูดลอยๆ แต่จะจะต้องมีจุดหมายที่ชัดเจน โดยขอให้ สส. ในพื้นที่ช่วยกันโปรโมทเกาะสมุย หลังการสร้างท่าเรือแล้ว ควรจะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรม เข้าด้วยกัน เพราะสมุย เพราะนอกจากจะมี พระอาทิตย์ ชายหาด ทะเล ก็เรื่องของวัฒนธรรม ที่จะมาดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นอาหาร ภูมิทัศน์ ซึ่งอยากให้นักท่องเที่ยวมาอยู่ให้นานมากขึ้น ซึ่งจำนวนคนที่มาท่องเที่ยวไม่สำคัญ เท่ากับระยะเวลาที่มาอยู่ หากอยู่นานขึ้นก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเมื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนับหมื่นล้านบาท ก็อยากให้นักท่องเที่ยวได้อยู่นานๆ จึงอยากฝากให้ สส. ร่วมมือกับภาคการท่องเที่ยวช่วยในเรื่องนี้ด้วย.-316-สำนักข่าวไทย