กองทัพเรือ 16 ก.พ. -โฆษกกองทัพเรือ เผยความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ในการกู้เรือสุโขทัยแบบจำกัด (Light Salvage) เริ่มปฏิบัติภารกิจ 22 ก.พ.นี้
พลเรือตรี วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือไทยและสหรัฐอเมริกา ในการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด (Light Salvage) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะยังไม่ใช่การกู้เรือทั้งลำขึ้นมาจากน้ำ แต่จะเป็นการดำเนินการซึ่งประกอบด้วย การสำรวจหลักฐานใต้น้ำ ทั้งภายในและภายนอกตัวเรือ เพื่อนำมาประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริงของกองทัพเรือ การค้นหาผู้สูญหาย 5 คน การทำให้ยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ และวัตถุอันตรายหมดความสามารถ รวมถึงการนำอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์บางอย่างขึ้นมาจากน้ำ โดยวัตถุประสงค์หลักของปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อยืนยันสาเหตุในการจมของเรือและวัตถุพยานในการสอบสวน
ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ดำเนินการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องแล้ว และจำเป็นต้องใช้วัตถุพยานเพื่อนำมาสรุปผล รวมทั้งจำเป็นต้องค้นหาผู้สูญหายที่อาจติดอยู่ภายในตัวเรือ ในส่วนที่สหรัฐฯ เสนอตัวมาช่วยเหลือในการทำลายวัตถุอันตรายจะเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งฝ่ายไทยและสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐมีประสบการณ์ และเครื่องมือพิเศษ จะทำให้ปฏิบัติการร่วมกันครั้งนี้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยกองทัพเรือจะใช้เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด 2 ลำ เรือตรวจการณ์ 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง 1 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด 40 นาย ร่วมในการปฏิบัติภารกิจ
ทางด้านกองทัพเรือสหรัฐฯ จะใช้เรือ Ocean Valor พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยประดาน้ำและกู้ซ่อมเคลื่อนที่ (Mobile Dive and Salvage Unit) ซึ่งประจำอยู่ที่ฐานทัพเรือในรัฐฮาวาย จำนวน 17 นาย เข้าร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ โดยเรือ Ocean Valor จะออกเดินทางในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ไปยังจุดที่เรือหลวงสุโขทัยจม และจะเริ่มปฏิบัติภารกิจในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ดังกล่าว เป็นกำลังพลที่จะเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 43 โดยในการฝึกจะประกอบด้วยกิจกรรมการฝึกต่าง ๆ รวมถึงการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัดในครั้งนี้
สำหรับการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ ถือเป็นเครื่องแสดงถึงมิตรภาพอันยาวนานระหว่างกองทัพเรือไทย กับกองทัพเรือสหรัฐฯ โดยกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจร่วมกันให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ด้วยความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบันทึกภาพทั้งภายในและภายนอกของตัวเรือ เพื่อใช้ประกอบการสอบสวนที่ได้ดำเนินการไว้ก่อนหน้านี้ ให้ทราบถึงสาเหตุของการจม ทั้งนี้ กองทัพเรือจะกำหนดพื้นที่ห้ามเดินเรือรอบ ๆ บริเวณที่ปฏิบัติภารกิจ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่ สำหรับผลการปฏิบัติต่าง ๆ กองทัพเรือจะชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป.-313.-สำนักข่าวไทย