4 ก.พ.- ตร. แนะ 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการเก็บหลักฐานบนสื่อสังคมออนไลน์ ก่อนไปแจ้งความพนักงานสอบสวน
วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ โดยในปัจจุบันจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ารูปแบบคดีที่มีจำนวนการแจ้งความมากที่สุดอันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์”
ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ของการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น เกิดจากการที่ผู้เสียหายไม่สามารถเก็บรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นในการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้เอง ทำให้คนร้ายมีเวลาในการลบข้อมูลต่าง ๆ อาทิ โพสต์ที่ใช้หลอกลวง ข้อความการสนทนา และบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่คนร้ายใช้ในการกระทำความผิด ก่อนที่ผู้เสียหายจะมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการประสานขอข้อมูลจากผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ได้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอแนะนำ 3 ขั้นตอนเบื้องต้น ในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนที่จะไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คือ “แคปจอ เซฟลิงก์ ดูโปรไฟล์” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
“แคปจอ” หรือ การบันทึกภาพหน้าจอ เป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงทางออนไลน์ เพราะจะสามารถแสดงให้เห็นถึง ชื่อบัญชี วันเวลาที่โพสต์ ตลอดจนข้อความและภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้
“เซฟลิงก์” หรือ การบันทึกลิงก์ URLs ที่สามารถนำไปสู่โพสต์ที่เป็นความผิด เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถนำลิงก์ดังกล่าวไปตรวจสอบข้อมูลกับผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ และใช้เป็นหลักฐานประกอบสำนวนการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
“ดูโปรไฟล์” หรือ การเข้าไปตรวจสอบหน้าบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของคนร้าย รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น และหาลิงก์ของบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญที่พนักงานสอบสวนต้องใช้ในการขอข้อมูลจากผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ “เพราะลิงก์ของบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แต่ละบัญชีเปรียบเสมือนรหัสประจำตัวประชาชน ที่จะไม่ซ้ำกับบัญชีอื่นแม้จะมีชื่อโปรไฟล์เดียวกัน จึงสามารถนำมาใช้ระบุบัญชีที่ใช้ในการกระทำความผิดได้”
โดยหากพี่น้องประชาชน สามารถทำตาม 3 ขั้นตอนในการเก็บหลักฐานบนสื่อสังคมออนไลน์ ก่อนไปแจ้งความพนักงานสอบสวนที่กล่าวมาข้างต้น จะส่งผลให้พนักงานสอบสวนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีของท่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มโอกาสที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง. 413 .-สำนักข่าวไทย