กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – คนไทย 266 คน ที่อพยพจากเมืองเล่าก์ก่าย ไปพักคอยยังเมืองคุนหมิงของจีน เดินทางกลับถึงไทยแล้ว ก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดแยกกลุ่มผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
เมื่อเวลาประมาณ 03.00-04.00 น. วันนี้ (20 พ.ย.66) เครื่องบินโดยสารสายการบิน Thai Air Asia เที่ยวบินที่ FD9702 และสายการบิน Thai Lion Air เที่ยวบินที่ SL7007 ทั้งสองเที่ยวบิน นำผู้โดยสาร จำนวน 273 คน ประกอบด้วย คนไทย 266 คน ชาวฟิลิปปินส์ 6 คน และชาวสิงคโปร์ 1 คน ที่อพยพจากเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ไปพักคอยยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน เดินทางมาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ประเทศไทยแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มาเตรียมความพร้อมรับตัวคนไทยทั้งหมด
หลังจากผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว เจ้าหน้าที่ได้นำคนไทยทั้งหมด 266 คน ออกจากท่าอากาศยานดอนเมือง ขึ้นรถโดยสารที่บริเวณลานจอดที่ 4 ซึ่งไม่ใช่ช่องออกสำหรับผู้โดยสารทั่วไป เพื่อนำทั้งหมดไปเข้าสู่กระบวนการคัดแยกผู้เสียหาย ที่ศูนย์บูรณาการคัดกรอง ศูนย์การเรียนรู้มหานคร สถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจขอสงวนการถ่ายภาพ เนื่องจากในจำนวนนี้เป็นผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ ที่ยังไม่ได้ถูกคัดกรอง ซึ่งการเดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้มหานคร สถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก มีรถตำรวจคอยคุ้มกันตลอดเส้นทาง
สำหรับกระบวนการคัดแยกเหยื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า จะมีทีมสหวิชาชีพ คือ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) และตำรวจนครบาล ร่วมตรวจสอบโดยละเอียด เพื่อคัดแยกกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และกลุ่มที่เป็นผู้ต้องหาออกจากกัน ตามกระบวนการกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM โดยกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ส่วนกลุ่มผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีตามกฎหมายและขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนชาวต่างชาติที่มีข้อมูลว่าเป็นชาวฟิลิปปินส์ 6 คน และชาวสิงคโปร์ 1 คน ที่เดินทางกลับมาพร้อมกับคนไทยกลุ่มนี้ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานกับทางสถานทูตประจำประเทศฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ให้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้เสียหายดังกล่าวแล้ว
สำหรับญาติของกลุ่มคนไทยในจำนวน 266 คน สามารถตรวจสอบรายชื่อคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือได้ผ่านสายด่วน 1191 ของกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และ 1300 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. – สำนักข่าวไทย