กรุงเทพ 3 พ.ย. – “ปานปรีย์” ชูทูตเศรษฐกิจ “หัวหอก” สร้างโอกาสให้ประเทศ พร้อมระบุการทำโครงการ “แลนด์บริดจ์” จะเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของไทยในการแข่งขันเวทีโลก ขณะที่ผู้ว่าการ ธปท. ชี้การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาส คือ ความเสี่ยงใหม่ของเศรษฐกิจโลก
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปาฐกถา : Thailand’s New Growth Path 2024 บริบทใหม่ของประเทศไทยในเวทีโลก ในงานสัมมนา Thailand Next Move 2024 “The Next Wealth and Sustainability” เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ความมั่งคั่งยั่งยืน โดยกล่าวว่า การทูตเศรษฐกิจขับเคลื่อนประเทศไปสู่ “New Growth Path” บทบาทและเส้นทางของไทยขึ้นอยู่กับบริบทของโลก หลายขั้วอำนาจแข่งขันกันทั้งด้าน geo-politics geo-economy และ geo-technology รวมไปถึงการแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย การวางจุดยืนของไทยท่ามกลางความขัดแย้งและบริบทเศรษฐกิจโลกแบ่งขั้ว สำคัญที่สุดไทยไม่ได้เป็นผู้ขัดแย้งหรือส่วนหนึ่งของความขัดแย้งใด ๆ และดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ อย่างมีดุลยภาพ แต่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์สามารถปะทุและยกระดับไปสู่ความรุนแรงและความสูญเสียได้ทุกเมื่อการวางจุดยืนที่ไม่โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง จำเป็นต้องมีจังหวะสำหรับการบริหารจัดการสถานการณ์และเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ต้องเร่งสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่และศักยภาพใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์ทั่วโลก พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยไม่ใช่แค่ destination จุดหมายปลายทางด้านการค้าและการลงทุนเท่านั้น แต่เป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงการขนส่งไปทั่วโลก
นายปานปรีย์ กล่าวว่า New Growth Path ของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ต้องมี 3 มิติ และภาคการเงินการธนาคารมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมทั้ง 3 มิติ
- Green Growth การเข้าถึงบริการการเงินและแหล่งเงินทุนที่จำเป็น สำหรับการปรับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- Innovation-driven Growth การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ
- Community-based Growth การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs และเศรษฐกิจชุมชน
โดยรัฐบาลจะนำประเทศไทยสู่ New Growth Path โดยดำเนินการทูตเศรษฐกิจที่มุ่งเชื่อมโยงพันธมิตรทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ภาครัฐ เอกชน และภาคการเงินการธนาคารจะมีบทบาทสำคัญ ในการสนับสนุนให้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเดินต่อไปได้ เพื่อส่งเสริมการเติบโตร่วมกัน พร้อมกับการแก้ปัญหาร่วมของภูมิภาคซึ่งรัฐบาลใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเป็น “หัวหอก” ของการทูตยุคใหม่ ในการแสวงหาโอกาสทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลการพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่และการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ
นายปานปรีย์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะเร่งเจรจา FTA กับประเทศเศรษฐกิจสำคัญเพื่อขยายตลาดส่งออกของไทย และทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนภายใต้กรอบ IPEF หรือ อินโดแปซิฟิกฟอรั่ม เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานให้แข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยโครงการ “แลนด์บริดจ์” เชื่อมฝั่งอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ที่ จ.ชุมพร-จ.ระนอง จะเป็นแม่เหล็กใหม่ของไทย ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงหรือลดความรุนแรงด้านภูมิรัฐศาสตร์ให้ประเทศต่าง ๆ กลับมามุ่งเน้นเรื่องการค้าขายบนพื้นฐานของความเป็นธรรม และมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งที่สำคัญไปทั่วโลก ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้นำคณะผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนเยือนต่างประเทศแล้ว 9 ทริป รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ และจะเดินทางไปร่วมประชุม IPEF ระดับรัฐมนตรีในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน รวมถึงได้เดินทางไปที่จังหวัดสระแก้วเพื่อรับฟังความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจตามแนวชายแดน
นอกจากนี้การเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อร่วมประชุม APEC ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็น Sustainable Finance ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ รัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียวผ่านการออกพันธบัตร เพื่อความยั่งยืนและเชิญชวนให้นักลงทุนจากต่างชาติร่วมลงทุนใน Sustainability Linked Bonds ที่รัฐบาลวางแผนออกเพิ่มเติมเพื่อระดมทุนประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้าซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพบหารือกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศ เพื่อเชิญชวนและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและผู้มีทักษะสูงให้เข้ามาลงทุนและทำงานในประเทศไทย รวมถึงการจัดกำหนดการให้ภาคเอกชนไทยได้พบปะหารือกับหน่วยงานและภาคเอกชนของต่างประเทศคู่ขนานกันไป ทั้งนี้รัฐบาลจะขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วนของไทย เพื่อให้การต่างประเทศสอดคล้องกับนโยบายภายในประเทศ เพื่อยกระดับความกินดีอยู่ดีของพี่น้องคนไทย พร้อมกับนำไทยกลับมาอยู่ในจอเรดาร์ของการเมืองและเศรษฐกิจโลกอย่างภาคภูมิ และได้รับความเชื่อมั่นจากนานาชาติ
กระทรวงการต่างประเทศพร้อมจะทำงานร่วมกับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ภายใต้กลไก “ทีมประเทศไทย”กระทรวงฯ เชิญทูตไทยทั่วโลกมาประชุมที่กรุงเทพฯ เพื่อระดมสมองและวางแนวทางขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศร่วมกับทุกภาคส่วนและเครือข่ายของประเทศไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยที่เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนซึ่งก้าวต่อไปของไทยต้องมีความครบเครื่อง จุดยืน ความยืดหยุ่น ความพร้อมที่จะผงาดขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง และต้องสร้างภูมิต้านทานเพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อพลิกฟื้นความเจริญรุ่งเรืองกลับมาสู่ประเทศไทย
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อปรับโหมดนโยบายการเงินสู่เศรษฐกิจยั่งยืน Towards a more resilient future ว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่คาดไม่ถึง หรือประเมินลำบาก จะทำให้เกิดแรงกระแทกหรือผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจที่แรง ดังนั้น จึงจำเป็นที่เศรษฐกิจต้องปรับโหมดในการดูแลหลายมิติ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่มี resiliency หรือความยืดหยุ่นเพื่อรองรับแรงกระแทกได้ ทั้งนี้ องค์ประกอบของเศรษฐกิจที่มี resiliency ไม่ใช่แค่เสถียรภาพ แต่มีความหมายกว้างกว่านั้น มีองค์ประกอบเรื่องความทนทานภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่น ถ้ามีเหตุการณ์คาดไม่ถึงสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้ มีลักษณะที่ล้มแล้วลุกขึ้นได้เร็ว เป็นต้น
ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไปมาก โดยความเสี่ยงเพิ่มสูง ซึ่งความเสี่ยงที่สูงสำหรับเหตุการณ์ที่คุ้นชิน เช่น การเติบโตของจีนที่ลดลง หรือเศรษฐกิจโลกที่ปรับลดลง เราก็สามารถรับมือได้แต่ที่น่าห่วง คือ มีความเสี่ยงใหม่ที่ไม่คุ้นชิน ทำให้คาดการณ์ลำบากว่า ผลท้ายสุดจะเป็นอย่างไร บทเรียน 10-20 ปี ที่ดูออกยาก คือ ผลข้างเคียง ยกตัวอย่าง ความเสี่ยงที่สูงมาก เช่น สถานการณ์ในตะวันออกลาง อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง จึงเป็นที่มาว่า เรื่องของเสถียรภาพ จะกลับมาเป็นพระเอก จากเดิมที่เราเน้นกระตุ้นเพื่อออกจากวิกฤตโควิด แต่ขณะนี้ บริบทเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ ต้องกลับมา ทั้งนี้ แนวทางการดูแลเศรษฐกิจที่เน้นเสถียรภาพนั้น สอดคล้องกับมุมมองของไอเอ็มเอฟ โดยเน้นเสถียรภาพ เช่น เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย เก็บลูกกระสุนการคลัง ดูแลเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ปรับโครงสร้างรับกระแสโลกใหม่ โดยสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ คือ ดูแลให้เศรษฐกิจโตตามศักยภาพที่ 3-4% ต่อปี เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมาย 1-3% และ อย่าให้เกิดความไม่สมดุลการเงิน เป็นต้น ส่วนเสถียรภาพที่โอเคน้อยหน่อย คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ 91% เมื่อเปรียบเทียบจีดีพี แม้จะลดลงจากจุดสูงสุดที่ 94% แต่ก็ยังสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงโควิด อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีตัวเลขตายตัวว่าระดับเท่าไหร่เหมาะสม แต่ต่างประเทศอยากให้รักษาไว้ที่ระดับ 80% เศษ ฉะนั้นในมิตินี้ถือว่ายังมีปัญหาและจับตามอง ส่วนด้านการเปรีขเทียบในอดีต คือ ความอ่อนแอภาคการคลัง สะท้อนจากตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ถามว่าถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศนั้น พบว่ามีหลายประเทศสูงกว่าเรา แต่หนี้ดังกล่าวเพิ่มมาอย่างเร็วจากก่อนโควิด โดยมีระดับ 62% ต่อจีดีพีนั้น สูงสุดกว่าที่เราเคยมีมา จึงเป็นตัวเลขที่ต้องใส่ใจ หรือชะล่าใจไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราอยากมีเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ เราต้องสร้างโอกาส เพื่อให้มีการเติบโตแบบใหม่ที่ฐานจะกว้างมากขึ้น ถ้าโตแบบเดิม ๆ จะยิ่งลำบาก โดยตัวเลขฟ้องว่าจะโตลำบาก คือ 1 ใน 3 ของแรงงานไทยและอุตสาหกรรมอยู่ในโลกเก่า เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ เป็นต้น. -สำนักข่าวไทย