โต้กันวุ่น จนต้องสั่งปิดประชุม

รัฐสภา 4 ส.ค.-ประธานรัฐสภาสั่งปิดประชุม หลัง “ก้าวไกล” ชงทบทวนมติห้ามเสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำ ย้ำทบทวนไม่ได้ ก่อนโต้เถียงไปมาร่วมชั่วโมง สุดท้ายงัดไม้แข็งปิดประชุมจบปัญหา


 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้ (4 ส.ค.) มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานประชุม โดยมีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช …. ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งนายชัยธวัช ตุลาธน สส.พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยที่มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อปิดสวิตช์ สว. ไม่ให้มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงเวลา 09.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่นัดการประชุม ยังมีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อเข้าร่วมประชุมเพียงแค่ 275 คน ประกอบด้วย สส. 241 คน และ สว. 34 คนเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมได้ตามเวลา

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า วันนี้สภาพการจราจรค่อนข้างติดขัด เนื่องจากมีตู้คอนเทนเนอร์ขวางอยู่ ทำให้สมาชิกรัฐสภาหลายคนเดินทางมาล่าช้า และขณะนี้มีความพยายามของคนบางกลุ่มต้องการที่จะล้มองค์ประชุม จึงขอให้ประธานรอสมาชิกอีกสักครู่ก่อน และระหว่างนี้ขอให้เปิดโอกาสให้เพื่อนสมาชิกได้หารือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไข


จากนั้นบรรดา สส.ก้าวไกล สลับลุกขึ้นหารือ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาการเดินทางมาประชุมรัฐสภาไม่สะดวก นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อนทั้งของสมาชิกและประชาชน แต่ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็มีความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่

จนกระทั่งเวลา 10.00 น. ยังมีสมาชิกรัฐสภาไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นหารือเชิงเหน็บ สว.ว่า เมื่อสักครู่นี้ก่อนจะเข้าห้องประชุม เห็น สว.หลายคน ยืนอยู่บริเวณหน้าห้อง ไม่แน่ใจว่าไม่มีปากกาเซ็นชื่อหรือไม่ จึงต้องบอกตรงๆ ว่า รอ สว.ครับ ก่อนที่จะหันไปดูที่หน้าจอแสดงจำนวนสมาชิกและพูดว่า “มากันกี่ท่านครับ ว้าย! 49 คน” ในที่สุดก็เปิดประชุมได้ในเวลา 10.38 น.

นายรังสิมันต์ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาให้ทบทวนมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา กรณีรัฐสภามีมติใช้ข้อบังคับ รัฐสภาข้อ 151 ตีความข้อบังคับที่ 41 ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซ้ำในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง โดยมีชื่อผู้รับรองครบถ้วน แต่ประธานรัฐสภาระบุว่าไม่สามารถเสนอได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หากเดินหน้าต่อจะติดขัดกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร จึงขอให้รอคำวินิจฉัยของศาลก่อน และขอให้เลื่อนมาพิจารณาวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิตช์ สว.ที่บรรจุไว้ในวาระ


ขณะที่นายรังสิมันต์ และ สส.พรรคก้าวไกล พยายามทักท้วงยืนยันว่ามีอำนาจของสภาในการลงมติ อีกทั้งสมาชิกพรรคก็รับรอง แต่ประธานยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี หากดำเนินต่อไปจะเกิดความเสียหาย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและสง่างามกับคนที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จึงอยากให้สมาชิกรอศาลก่อน จะได้ไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติและไม่ให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ญัตติที่พรรคก้าวไกลเสนอถูกต้อง ขอให้ประธานฯ ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม

ส่วนนายสมชาย แสวงการ สว. เสนอให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่นายรังสิมันต์พยายามโต้แย้งว่าการเสนอญัตติเป็นไปตามข้อบังคับที่ถูกต้อง จนกระทั่งมี สว.อภิปรายสนับสนุนการคัดค้านของประธานรัฐสภา โดยนายสมชายแสดงความไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายรังสิมันต์ จึงเสนอญัตติไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายรังสิมันต์ โดยมี สว.รับรองครบถ้วนเช่นกัน

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ชี้แจงว่า มติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาซ้ำ เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่ใช่เพียงการดำเนินการตามข้อบังคับ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญวรรคสอง ระบุขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ชัดเจนว่าจะเสนอชื่อซ้ำได้เมื่อใช้เสียงของรัฐสภา 2 ใน 3 ยกเว้นข้อบังคับเพื่อให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ จึงจะสามารถเสนอชื่อบุคคลที่ญัตติตกไปแล้ว กลับมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไขนี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับที่ 41 ที่ระบุว่าประธานรัฐสภาสามารถวินิจฉัยให้เสนอซ้ำได้เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น กรณีนี้จะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเข้าเงื่อนไขในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก  

ขณะที่นายประพันธ์ คูณมี ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายรังสิมันต์ ที่ลบล้างที่เคยลงมติไปแล้ว เพราะไม่มีข้อบังคับให้กระทำได้ ไม่มีเหตุให้ทบทวน ยืนยันว่าการวินิจฉัยของประธานรัฐสภาที่เห็นว่าไม่สามารถทบทวนได้นั้นชอบแล้ว  เพราะการลงมติของสมาชิกเป็นญัตติซ้ำเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ญัตติที่เสนอให้ทบทวนจึงไม่ชอบ ทำให้นายรังสิมันต์ยืนยันจะให้ที่ประชุมเดินหน้าทบทวนญัตติลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จนในที่สุดประธานรัฐสภาขอเลื่อนการประชุมวันนี้ออกไปก่อน และปิดการประชุมทันทีในเวลา 11.27 น.-สำนักข่าวไทย    

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

หนุ่ม 31 ซิ่งเก๋งชนไรเดอร์ดับคาที่ หลังมีปากเสียงเรื่องขับเฉี่ยวชน

หนุ่มไทยเชื้อสายอินเดีย ลูกเจ้าของร้านขายผ้าซิ่งเก๋งชนไรเดอร์ดับ ริมถนนสุขุมวิท หลังมีปากเสียงเรื่องขับรถเฉี่ยวไม่ลงมาเจรจา

พ่อพาญาติเยี่ยมลูกชายลูกครึ่งอินเดีย ขับรถชนไรเดอร์ดับ

พ่อพาญาติเยี่ยมลูกชายลูกครึ่งอินเดีย ที่หัวร้อนขับรถชนไรเดอร์ดับคาที่กลางสุขุมวิท เมื่อวานนี้ พร้อมไหว้ขอสื่อ อย่ามายุ่งกับครอบครัว

จำคุกทนายเดชา

ศาลสั่งจำคุก 1 ปี “ทนายเดชา” ปมไลฟ์หมิ่น “อ.อ๊อด”

ศาลสั่งจำคุก 1 ปี “ทนายเดชา” คดีหมิ่น “อ.อ๊อด” ปรับ 1 แสนบาท ปมไลฟ์ด่าเสียหาย ให้รอลงอาญา โจทก์เตรียมอุทธรณ์ต่อ ขอให้ติดคุกจริง

ศาลให้ประกันหนุ่มลูกครึ่งอินเดียหัวร้อนขับรถไล่ชนไรเดอร์ดับ

ครอบครัวไรเดอร์ที่ถูกหนุ่มลูกครึ่งอินเดียหัวร้อนขับรถไล่ชนเสียชีวิต กอดกันร้องไห้รับร่างและรดน้ำศพ ด้านศาลให้ประกันตัวผู้ต้องหา วงเงิน 600,000 บาท ติดกำไล EM-ห้ามออกนอกประเทศ

ข่าวแนะนำ

วันประวัติศาสตร์ สมรสเท่าเทียมวันแรก

วันนี้เป็นวันแรกที่กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ ใน กทม. มีการจัดงานวันสมรสเท่าเทียมอย่างยิ่งใหญ่ เฉลิมฉลองให้กับเส้นทางการต่อสู้อันยาวนานกว่าที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ไม่ว่าเพศใดก็จะได้รับสิทธิการสมรสอย่างเท่าเทียมกัน

นาทีประวัติศาสตร์! นายกฯ ร่วมพิธีลงนาม FTA ไทย-เอฟตา

นายกฯ ร่วมพิธีลงนาม FTA ไทย-เอฟตา ฉบับแรกไทยกับยุโรป ความสำเร็จรัฐบาลแพทองธาร สร้างโอกาสยุคทองการค้า-ลงทุน ทำเงินเข้าประเทศ

ตำรวจ ปปป.ซ้อนแผนบุกจับนายช่างโยธา เรียกรับเงิน 4 แสน

ตำรวจ ปปป. บุกจับนายช่างโยธาปฏิบัติงาน ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตพระโขนง เรียกรับเงินค่าออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร 400,000 บาท

สมรสเท่าเทียม

นายกฯ ส่งคลิปสารร่วมยินดีกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้

“แพทองธาร” นายกฯ ส่งคลิปสารร่วมแสดงความยินดีกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้ ขอบคุณทุกภาคส่วนผ่านการต่อสู้กับอคติกว่า 2 ทศวรรษ ทำให้ ทุกตารางนิ้วของประเทศไทยโอบรับความหลากหลาย และเท่าเทียม