กรุงเทพฯ 31 พ.ค.-จับตาบ่ายวันนี้ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีส่วยสติกเกอร์ ประชุมนัดแรก ขณะที่กรมการขนส่งทางบกเตรียมเชิญผู้ประกอบการรถบรรทุกร่วมหารือ พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จใน 15 วันเช่นเดียวกัน
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวยอมรับ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการรวบรวมข้อมูลและตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นกรณีส่วยสติกเกอร์ที่เป็นประเด็นสังคมอยู่ในขณะนี้ โดยมอบหมายให้นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่าคณะกรรมการจะมีการประชุมนัดแรกในวันนี้ และให้ดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จภายใน 15 วัน
เบื้องต้นเป้าหมายในการสอบสวน ในประเด็นดังกล่าว ในส่วนที่เป็นข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่บังคับใช้กฎหมายหรือตำรวจทางหลวง คงไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม แต่การสอบสวนจะเข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีข้าราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม ในระดับล่าง ที่ปฏิบัติงานจะทราบข้อมูล หรืออาจไปเกี่ยวข้องหรือไม่ด้วย
ขณะที่นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่าในส่วนของกรมฯ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ขึ้นเช่นเดียวกันมี นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีฯ และโฆษกกรมการขนส่งทางบกเป็นประธาน เพื่อรวบรวมข้อมูล และจะให้ผลแล้วเสร็จใน 15 วัน สอดคล้องกับกรอบเวลาตามนโยบายกระทรวงคมนาคม เนื่องจากที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก ทำงานใกล้ชิดกับสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการภาคขนส่ง โดยจะมีการเชิญนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์ฯ มาร่วมหารือให้ข้อมูลด้วย ยืนยันว่า ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างตรงไปตรงมา โดยบทบาทของกรมการขนส่งทางบกส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจสภาพความพร้อมของตัวรถ ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจชั่งน้ำหนัก หรือการบังคับใช้กฎหมายรถในเส้นทาง ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการภาคขนส่ง และกรมฯ ไม่มีนโยบายจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจตามสถานประกอบการ ยกเว้นแต่ช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ หรือ สงกรานต์ โดยจะเป็นการตรวจเชิงแนะนำให้ปรับปรุง ดูแลรถอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย ไม่ใช่เป็นการตรวจ จับ ปรับ ทั้งนี้หากประชาชน หรือ ผู้ประกอบการ พบเห็นเจ้าหน้าที่กรมฯ มีพฤติการณ์เรียกรับผลประโยชน์ สามารถแจ้งข้อมูลมาได้ที่กรมการขนส่งทางบกโดยตรง ผ่านเพจกรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News หรือที่ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกได้โดยตรง
สำหรับกรณีส่วยรถโรงเรียน ยืนยันว่า โดยปกติรถโรงเรียนจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เนื่องจากต้องติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย แต่ทั้งนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัดอาจพบเห็นกรณีผู้ปกครองนำรถไปรับจ้างรับส่งนักเรียนเอง แต่ยืนยันว่า ไม่สามารถนำรถไปดัดแปลงเป็นรถรับส่งนักเรียนได้ และรถโรงเรียนจะต้องดำเนินการตามข้อบังคับของกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น.-สำนักข่าวไทย