กรุงเทพฯ 18 เม.ย. – บ่นกันระงมค่าไฟแพง หลังอากาศร้อนจัด คอมเพรสเซอร์ทำงานหนัก กินไฟเพิ่ม เข้าคิวยาวล้างแอร์ แนะเปิดแอร์ควบคู่พัดลม ด้านสำนักงาน กกพ. แจงพร้อมลดค่าเอฟทีงวด 2/66 อีก 7 สตางค์ หาก กฟผ. ทำหนังสือยืนยันยืดหนี้ที่เหลือ 1.3 แสนล้านบาท พร้อมลุ้นเอราวัณผลิตก๊าซเพิ่มตามแผน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อสังคมออนไลน์มีการโชว์บิลค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมากในเดือนมีนาคม ในระดับพันบาท และคาดว่าบิลเดือนเมษายน จะจ่ายแพงกว่าอีก เพราะหลายคนหยุดสงกรานต์ เปิดแอร์คลายร้อน โดยค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้แยอะยิ่งจ่ายแพง โดยค่าไฟบ้าน หากใช้ไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน จะอยู่ที่หน่วยละ 3.2484 บาท ส่วน 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400 ) หน่วยละ 4.2218 บาท และหากเกิน 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท
ขณะที่ค่าไฟฟ้าเอฟทีงวด 1/66 (ม.ค.-เม.ย.) ในส่วนของบ้านอยู่อาศัย อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฐาน ทำให้ค่าไฟบ้านเฉลี่ย 4.72 บาทต่อหน่วย โดยรัฐบาลมีเงินอุดหนุนลดพิเศษสำหรับคนใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย แต่งวด 2/66 (พ.ค.-ส.ค.) ยังไม่มีเงินช่วยเหลือพิเศษ และค่าเอฟทีบ้านจะขยับขึ้นเป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
เรื่องนี้หลายพรรคการเมืองนำมาหาเสียงว่าหากได้รับเลือกตั้งจะรื้อโครงสร้างค่าไฟ โดยเฉพาะส่วนที่รับซื้อจากเอกชน แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาค่าไฟแพงสะท้อนค่าเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงนั่นเอง
นายเอกวรพันธุ์ เจริญวิไลสุข นายกสมาคมผู้ค้าเครื่องปรับอากาศไทย กล่าวว่า ในส่วนยอดขายเครื่องปรับอากาศยอมรับว่ามีการสอบถามติดตั้งเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่ดีเท่ากับช่วงการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการติดตั้งรับทั้งการทำงานอยู่บ้าน และการติดตั้งห้องปลอดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ช่วงหน้าร้อนมีผู้ต้องการล้างแอร์เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าไฟ ทำให้ในขณะนี้มีการต่อคิวล้างแอร์กันยาวนานถึง 2 สัปดาห์ จากเดิมประมาณ 3-4 วัน
ส่วนการใช้แอร์หน้าร้อน ยอมรับว่าหากเทียบเวลาการเปิดแอร์ในอุณหภูมิปกติแล้ว ค่าไฟฟ้าจะจ่ายแพงมากกว่า เพราะการระบายความร้อนหรือบีทียูที่ระบายออกมากในอุณหภูมิภายนอกที่สูงกว่า ระบายได้น้อยลง เช่น หากภายนอกปกติ 34 องศาเซลเซียส แล้วเพิ่มเป็น 40 องศาเซลเซียส ความเย็นในห้องจะน้อยลง คนส่วนใหญ่จะลดอุณหภูมิจะยิ่งจ่ายค่าไฟแพงขึ้น ขอแนะนำให้เปิดแอร์อุณหภูมิที่เหมาะสมและเย็นได้ คือประมาณ 27 องศาฯ แล้วเปิดพัดลมควบคู่จะทำให้เย็นเพิ่มขึ้น ค่าไฟฟ้าจะจ่ายน้อยลงได้ราวร้อยละ 10-30 ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมของที่อยู่อาศัยนั้นๆ
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า การเปิดแอร์หน้าร้อน คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้นก็จะกินไฟมากขึ้น ขอแนะนำให้เปิดแอร์ควบคู่เปิดพัดลม และร่วมประหยัดพลังงานด้วยเทคนิคปิด (ปิดไฟที่ไม่จำเป็น) ปรับ (ปรับแอร์ในอุณหภูมิเหมาะสม) ปลด (ปลดปลั๊กที่ไม่ใช้) เปลี่ยน (เปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน) จะสามารถประหยัดค่าไฟลงได้
ส่วนค่าไฟฟ้างวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.66) ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าภาครัฐจะใช้เงินส่วนใดมาอุดหนุนค่าไฟสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินราว 8,000 ล้านบาท หากยังไม่มีการช่วยจะทำให้ค่าไฟฟ้าบ้านเฉลี่ยขยับขึ้น 5 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำหนังสือถึงสำนักงาน กกพ. แจ้งเพียงว่าเป็นกรณีศึกษาที่จะยืดระยะเวลาคืนหนี้ที่รับภาระต้นทุนค่าไฟแทนประชาชนไปก่อน 1.5 แสนล้านบาท จาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน (โดยวงเงินค้างชำระอยู่อีกราว 1.3 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นการยื่นภายหลังการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟทีงวด 2/66 ไปแล้ว จึงไม่สามารถทบทวนค่าเอฟทีได้ แต่หาก กฟผ. ยื่นหนังสือมาใหม่ว่ายืนยัน พร้อมจะขยายเวลาการคืนหนี้เป็น 2 ปี 4 เดือน ทาง กกพ. ก็พร้อมจะพิจารณาทบทวนค่าไฟฟ้าเอฟทีงวด 2/66 ซึ่งตามที่ กฟผ. คำนวณจะสามารถลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลงได้ 7 สตางค์ จาก 4.77 บาท เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ทราบว่ากระทรวงการคลังมีความเป็นห่วงเรื่องหนี้ กฟผ. เพราะมีผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง
“ค่าไฟฟ้างวดถัดไป (ก.ย.-ธ.ค.66) ค่าไฟฟ้าจะลดลงอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นก๊าซในอ่าวไทย แหล่งเอราวัณจะขึ้นมาตามแผนหรือไม่ เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซแอลเอ็นจี รวมไปถึงต้องดูราคาแอลเอ็นจีปลายปีที่ปกติราคาแพงขึ้น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงหนี้สินที่ติดค้าง กฟผ. ซึ่งภาพรวมแล้วคงยังบอกไม่ได้ว่าแม้แอลเอ็นจีราคาจะลดลงในขณะนี้ แล้วจะทำให้ค่าไฟฟ้างวดถัดไปลดลง” นายคมกฤช กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงพลังานแจ้งว่า ขณะนี้กระทรวงกำลังติดตามสถานการณ์การผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณว่า บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จะสามารถเพิ่มกำลังผลิตตามแผนหรือไม่ ล่าสุดในขณะนี้ประเมินอาจล่าช้ากว่าแผนลงอีก 2-3 เดือน จากเดิมจะทยอยนำก๊าซขึ้นมาใช้เดือน ก.ค.66 ในปริมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, เดือน ธ.ค. 66 เพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเดือน มิ.ย. 67 จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน.-สำนักข่าวไทย