สำนักข่าวไทย 23 มี.ค.- “หมอยงยุทธ” ห่วงสังคมชินชาจากข่าวกราดยิง พร้อมถอดบทเรียน การถือครองกรณีอาวุธปืน ทำร้ายผู้อื่น จากสารวัตรคลั่ง จนถึงอดีตลูกจ้างป่าไม้กราดยิง ควรยกเลิกปืนสวัสดิการ จี้ให้ต้นสังกัด ติดตามผู้ถือครองอาวุธปืนในหน่วยงานอย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสาธารณสุข และจี้ กทสช.ติดตามสื่อดราม่า หวั่นยิ่งสร้างพฤติกรรมเลียนแบบ และสังคมชินชาต่อความรุนแรง
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึง เหตุชายกราดยิง ที่จังหวัดเพชรบุรี ว่า บทเรียนความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกรณีการใช้อาวุธปืนทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นกรณีสารวัตรคลั่งจนถึงเหตุการณ์ล่าสุด จะพบว่าเกิดขึ้นมาจากความเครียดและมีปัญหาทางจิตใจ ซึ่งปกติคนที่จะดูแลในเรื่องนี้มีตั้งแต่ชุมชน และองค์กร เพราะผู้ที่มีอาวุธปืนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ในองค์กรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ,อสส., เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทั้งนี้ กลไกการดูแลขององค์กรจะต้องทำหน้าที่ดูแลบุคลากร ไม่ใช่พอเกิดปัญหาก็ส่งต่อให้ระบบสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นระบบปลายทาง ก่อนที่คนเหล่านี้จะมีปัญหาเขาเคยเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ให้กับหน่วยงานได้อย่างเยี่ยม
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การถือครอบครองอาวุธปืน ต้องมีระบบติดตามปัญหาสภาพจิตใจทั้งระบบ ไม่ใช่แค่จำกัดไว้ที่ส่วนกลาง ทำหน้าที่ติดตาม เช่น กองทัพบกมีระบบติดตามอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏฯ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีโรงพยาบาลตำรวจ คอยกำกับติดตามสภาพจิตใจ เพราะการครอบครองอาวุธปืนมีในเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ของประเทศ การถือครอบครองอาวุธต้องเข้าใจว่าอาจก่อเหตุได้ตั้งแต่ตัวเองและผู้อื่น เช่น ทำร้ายตนเอง, ทำร้ายคนในครอบครัว, คนในชุมชน หรือแม้แต่คนไม่รู้จัก ฉะนั้นอย่าได้นำอำนาจทางปกครองหรือวินัยมาจำกัดในเรื่องการดูแล ครอบครองอาวุธปืนอย่างเดียว แต่ต้องใช้มาตรการการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ พร้อมเรียกร้องยกเลิกซื้ออาวุธปืนสวัสดิการ เพราะคำว่าสวัสดิการนั้นไม่เหมาะใช้กับอาวุธ เพราะการใช้อาวุธเป็นการใช้ในขณะปฎิบัติหน้าที่ หากเสร็จสิ้นภารกิจหรือไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว ก็ไม่ควรมีการครอบครองอาวุธปืน เช่น กรณีเหตุกราดยิงที่เพชรบุรีนี้จะพบว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น แม้ที่มาของอาวุธปืนจะไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน
นพ.ยงยุทธ ยังกล่าวปฏิเสธวิจารณ์การปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะไม่เกี่ยวข้อง แต่อยากชี้ให้เห็นถึงการนำเสนอข่าวมากกว่า ที่ทาง กสทช. ควรเข้ามามีบทบาทควบคุมไม่ให้เกิดความดราม่ามากจนเกินไป เพราะห่วงว่าในอนาคตสังคมจะเกิดความชินชาต่อความรุนแรง โดยพฤติกรรมของความรุนแรงจากการนำเสนอข่าวจะเริ่มจาก 1.เลียนแบบหรือเป็นแบบอย่าง 2.ชินชา และ 3.ลดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งก็ กสทช.สามารถเข้ามาดูแลและควบคุมได้ตั้งแต่สื่อหลัก รวมถึงสื่อออนไลน์ที่มีการลงทะเบียน เพราะบทเรียนจากการนำเสนอข่าวจะเห็นว่าทุกครั้งมีบทเรียนไม่ซ้ำกันและดราม่า ความรุนแรงก็แตกต่างกัน ทั้งนี้ การติดตามข่าวแบบทุกนาที หรือทุกชั่วโมง ทำให้เกิดความเครียดและท้ายที่สุดสังคมก็จะชินชา. -สำนักข่าวไทย