กรุงเทพฯ 4 ม.ค.- ตำรวจ ปปป.ออกหมายเรียก 13 คน ที่ปรากฏชื่อหน้าซองรับเงินในห้องอธิบดีกรมอุทยานฯ เข้าให้ปากคำ ส่วนพยาน 17 ปาก จ่อให้ปากคำวันศุกร์นี้ ยืนยันเร่งขยายผล รวมถึงประเด็นเงินส่งต่อให้ใครหรือไม่ พร้อมเผยไทม์ไลน์เรื่องร้องเรียนอธิบดีกรมอุทยานฯ จนนำไปสู่การจับกุม
หลังให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ปปป. ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ทุกคนไม่ต้องกังวล คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ออกไปไม่มีมุมไหนที่มีการปกปิด ท่านปล่อยคลิปออกไปแสดงว่าท่านตั้งใจทำหน้าที่และอยากให้สังคมรับรู้ วันนี้ที่มาพบพนักงานสอบสวนให้การเพิ่มเติมไว้ทั้งหมด พร้อมยื่นเอกสาร 53 แผ่นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงเกี่ยวกับซอง และจะยื่นพยานอีก 17 ปาก ซึ่งมาให้ข้อมูลวันศุกร์ที่ 6 มกราคมนี้ ส่วนวันนี้ผมมาคนเดียว และพยานอีก 1 ปาก ให้ปากคำในช่วงบ่าย ส่วนซองพนักงานสอบสวนได้สอบถามรายละเอียดว่ามีใครบ้าง ทั้งหมดอีก 13 รายชื่อ มีทั้งผู้อำนวยการสำนักลงไปถึงหัวหน้าหน่วยงาน
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของตนมีผู้ที่จะเข้าให้ข้อมูลทั้งหมด 19 คน รวมตนเอง แบ่งเป็น 13 คน เป็นกรณีการรวมเงินที่เรียกรับรายเดือน 98,000 บาท ส่วน 4 คน เป็นผู้ที่เดือดร้อนในชุดแรกที่ร้องเรียนกับ ป.ป.ช. อีกหนึ่งคนเคยมีกรณีถูกโยกย้ายตำแหน่งโดยการจ่ายเงิน ก็จะมาให้ข้อมูลด้วย
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ทราบว่ามีการเรียกรับมาแล้วกี่เดือน เพราะตนมารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนตุลาคม หลังจากนั้นก็มารับทราบปัญหาในสังกัด คือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี มีเรียกเงินตั้งแต่เดือนตุลาคม รวมเป็นเงิน 98,000 บาท ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการนำเงินส่วนตัวที่หาได้ในครอบครัว หรืออาจเป็นเงินกู้สหกรณ์ เงินที่หาได้ นำไปจ่ายก่อน เพราะงบประมาณส่วนราชการเงินเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนเงินยังไม่ออก เงินที่สัญญากันว่าหรือตกลงกันไว้ เป็นเงินส่วนตัวไม่ได้มาจากเงินงบประมาณ ที่ผมอยู่กับลูกน้อง ยืนยันได้ว่าลูกน้องไม่กล้า ทำเพราะเงินงบประมาณที่มีอยู่ไม่พอทำงาน ลูกน้องที่จะไปทุจริตต่องบประมาณที่มีเป็นไปไม่ได้
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าน่าสงสารยอมจ่ายกันหน่วยละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 12,000 บาท ซึ่งเป็นเงินของเดือนตุลาคม มีหัวหน้าหน่วยงานหลายคนที่ถูกรังแก ต้องหาเงินมาจ่ายแบบนี้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับในสำนวนและในซองที่ประสานงานมาให้ปากคำกับ ปปป.เพิ่มมากกว่า 7 ปาก
ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. เปิดเผยว่า นายชัยวัฒน์ มาให้การเพิ่มเติมกับ ปปป. ส่วนสำนวนคดีขอให้เป็นเรื่องของคดี วันนี้นายชัยวัฒน์ ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี พนักงานสอบสวนจะส่งหมายเรียกประมาณ 13 หมายเรียก ไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคำให้การ และผู้ที่ปรากฏชื่อ หน้าซองเงิน โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ เจ้าของซองสามารถมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อมาให้การได้ก่อน ถือว่าไม่มีความผิด เพราะการจับกุมใครสักคนต้องแสวงหาความร่วมมือ ผมสั่งไปแล้วให้ติดต่อรอบนอกด้วย และเร่งสอบให้เสร็จ และจะส่ง ป.ป.ช.โดยเร็ว ทั้งนี้ หมายเรียกพยานจะทยอยส่ง วันนั้นที่เราเข้าไปยืนยันว่าดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย เมื่อให้ความร่วมมือ พยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ ยืนยันมีพยานหลักฐานสามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้
เมื่อถามถึงประเด็นการไม่ขยายผลไปค้นบ้านพัก พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า ปปป.จะทำงานทุกมิติให้ได้ข้อเท็จจริง โดยจะทำงานอย่างเต็มที่ ปปป.และ ป.ป.ท.จะทำอะไรทุกอย่างจะต้องมีหลักฐานรัดกุมให้มากกว่านี้ เล่นกับพายุใหญ่ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ไม่ขยายผล เราขยายผล แต่เราใช้วิธีการของเราในการขยาย ทำไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร เรื่องนี้เป็นเรื่องของบุคคลที่กระทำการไม่กระทำการ ถ้าเขาปฏิบัติตัวดีเรื่องก็ไม่เกิด ผมเชื่อว่ากรมอุทยานฯ อยู่มานานปัญหาไม่มี เมื่อบุคคลไปสร้างปัญหา ก็เป็นเรื่องของบุคคลก็ต้องว่ากันไป
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า จะเรียกผู้ถูกกล่าวหามาให้ปากคำเพิ่ม ส่วนเงินจะส่งต่อให้ใครอีกบ้าง ชุดสืบสวนทำงานอยู่ ฝากถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับซองให้มาให้ปากคำ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายพร้อมให้ความเป็นธรรม ยืนยันไม่มีการกลั่นแกล้ง ส่วนเรื่องคลิปขอแก้ข่าวว่าตำรวจกับ ป.ป.ช. ไม่ได้ปล่อยคลิป ผมจะทำทุกมิติให้กระจ่างให้ได้ว่าเป็นอย่างไร ยืนยันว่าจะทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีบิดเบี้ยวว่ากันด้วยพยานหลักฐาน อะไรที่เป็นของใครก็ต้องชี้แจงให้ได้ ชี้แจงไม่ได้ก็อาจจะตกเป็นจำเลยก็ได้ ส่วนหน้าซองสีน้ำตาลส่วนใหญ่ชื่อหน้าซองเป็นชื่อหน่วยงาน และมีชื่อบุคคลก็มีปะปนกันไป
สำหรับไทม์ไลน์ เรื่องร้องเรียนการทุจริตของอธิบดีกรมอุทยานฯ
1.วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ได้รับการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
2.วันที่ 24 กรกฎาคม 2565 นายรัชฎา ลงนามในหนังสือแจ้งเวียนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ด่วนที่สุด ที่ ทส 0901.304/ว3952 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการ แจ้งให้ข้าราชการในสังกัดถือปฏิบัติ ดังนี้
2.1. กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการในสังกัดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ให้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
2.2. กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการ หรือไปช่วยปฏิบัติราชการต่างสังกัด (ภายในกรม) รวมทั้งผู้ที่มาช่วยปฏิบัติราชการจากส่วนราชการอื่น ให้ปฏิบัติราชการตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายต่อไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
2.3. กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งมอบหมายให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการทำหน้าที่ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้ากลุ่ม และ/หรือ หัวหน้าหน่วยงานใดแล้ว ให้ผู้ซึ่งทำหน้าที่นั้นอยู่เดิม กลับไปปฏิบัติราชการต้นสังกัด หรือไปปฏิบัติราชการตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป
2.4. ให้ผู้อำนวยการสำนักทุกสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกสำนัก ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษาสาขา ผู้อำนวยการกองทุกกอง และหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกอื่นที่ขึ้นตรงต่ออธิบดี จัดทำคำสั่งมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ข้าราชการซึ่งกลับไปปฏิบัติราชการ ต้นสังกัดตามข้อ3 ทุกราย
3.วันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2565 นายรัชฎา มีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการสำนักสาขา ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเกรด A (ขนาดใหญ่) ทั้งทางบกทางทะเล ทั่วประเทศ จำนวนหลายคำสั่ง และมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยออกคำสั่งแต่งตั้งทุก 3 วัน เป็นต้นมา
4.นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการเรียกรับเงินในการโยกย้ายตำแหน่งของอธิบดีกรม อส. จากอดีตผู้บังคับบัญชา เพื่อน รุ่นน้อง จำนวนมาก
5.วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายชัยวัฒน์ มีหนังสือร้องเรียนขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง (ในทางลับ) กรณีนายรัชฎา อธิบดีกรมอุทยานฯ มีพฤติกรรมทุจริต และปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ถึงนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา
6.วันที่ 15 สิงหาคม 2565 นายชัยวัฒน์ เข้าพบนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการพูดคุยถึงการทุจริตเรียกรับเงินที่เกี่ยวข้องกับอธิบดีกรมอุทยานฯ ในการเรียกรับเงินวิ่งเต้น โยกย้ายข้าราชการในกรม ซึ่งนายจตุพร ระบุว่าตนไม่รู้ไม่เห็น และไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน หากมีหลักฐานให้นำมาแสดงและแจ้งตนได้เลย
7.วันที่ 3 ตุลาคม 2565 นายชัยวัฒน์ กลับไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชา อธิบดีมีการเรียกเก็บเปอร์เซ็นต์จากหัวหน้าหน่วยงาน
8.ปลายเดือนตุลาคม 2565 นายชัยวัฒน์ เข้าพบอธิบดีที่ห้องทำงาน จึงได้ทราบว่าอธิบดีมีการเรียกเก็บเงินจากหน่วยงานที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่จริง และเงินดังกล่าวให้ตนเป็นผู้นำมาส่ง
9.วันที่ 22 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เรียกตนเพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีที่มีการร้องเรียน อธิบดีกรมอุทยานฯ ตามหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 4 สิงหาคม 2565
10.วันที่ 26 ธันวาคม 2565 นายชัยวัฒน์ ร่วมกับตำรวจ ปปป. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อมูลพยานข้อเท็จจริง และมีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายรัชฎา ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยกล่าวหาว่าเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
11.วันที่ 27 ธันวาคม 2565 ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) นำโดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. นำกำลังตำรวจพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชิญตัวนายรัชฎา มาที่ห้องทำงานอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมแจ้งเหตุ และตรวจสอบพบเงินที่ดำเนินการล่อซื้อและขยายผลตรวจพบเงินและเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับเงินดังกล่าว โดยตรวจยึดไว้เป็นของกลางจำนวน 21 รายการ เป็นเงินจำนวน 4,843,300 บาท พร้อมจับกุมตัวรัชฎา อธิบดีกรมอุทยานฯ ไปดำเนินคดีตามกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย