ทำเนียบ 12 ธ.ค.- “ธนกร” แจงนายกฯ สั่งยกระดับรายได้แรงงานไทย โดยเน้นพัฒนาทักษะใหม่ Upskill / Reskill และ New Skill หวังให้สอดรับกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อให้แรงงานไทยเติบโตเคียงคู่เศรษฐกิจโลก ย้ำที่ผ่านมาก่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นฉันทามติร่วมกันของนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล
นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์แรงงานตลอดระยะเวลา 8 ปีภายใต้การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ถือว่าพี่น้องแรงงานไทยเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงวางเป้าหมายสร้างการเติบโตรายได้ของพี่น้องแรงงานอย่างยั่งยืน ด้วยการยกระดับและเน้นการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้แก่แรงงานทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย แม้ในช่วงโควิด-19 ก็ยังเดินหน้ามาตรการรักษาการจ้างงาน เสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และให้กระทรวงแรงงานเปิดช่องการจ้างงานใหม่ๆ ผ่านระบบออนไลน์ เช่น Smart Job Center ขณะเดียวกันยังกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาตรการ Upskill Reskill และ New Skill เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีทักษะตรงตามความต้องการของนายจ้าง ส่งเสริมการเรียนรู้ทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มของภาครัฐ เช่น “ไทยมีงานทำ” และ Futureskill-newcareer ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้ง โรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่งของ กทม. หน่วยงานฝึกอาชีพของกระทรวงมหาดไทย การศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำของ กศน. สถาบันยานยนต์และสถาบันพัฒนา ผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพให้สอดคล้องกับแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ( Creative economy) และอุตสาหกรรมใหม่ ที่เน้นการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม (Value added) แม้ว่าตลาดแรงงานจะถูกท้าทายจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่นและโควิด-19 แต่ก็ยังทำให้แรงงานไทยเป็นที่ต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
นายธนกร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลยังสนับสนุนให้มีโครงการฝึกอบรมความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อพัฒนาแรงงานหรือพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้และทักษะฝีมือสอดคล้องกับอุตสาหกรรม 6 กลุ่มเป้าหมาย (ดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์) โดยมีผู้ได้รับการฝึกอบรม จำนวน 5,671 คน โครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม/บริการ มีผู้ได้รับการฝึกอบรม จำนวน 28,304 คน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ/ผลิตภาพได้จัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบ SMEร กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ จำนวน 17,407 คน รวมถึงมีการสำรวจข้อมูลความต้องการแรงงานของสถานประกอบการที่มีแรงงานต่ำกว่า 50 คนลงมา และบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลอุปสงค์และอุปทานกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 17,359 แห่งด้วย
“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ต้องคำนึงถึงภาพรวมที่ให้พี่น้องแรงงานมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมแก่นายจ้างด้วย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านมา จึงเป็นฉันทามติร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อให้พี่น้องแรงงานเติบโตเคียงข้างไปกับเศรษฐกิจของประเทศได้ ไม่ใช่ประกาศว่าจะให้ค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้นเท่านี้แบบไม่ปรึกษาหารือกับใคร แล้วค่อยไปหาวิธีเอาในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งมีแต่จะทำให้สังคมสับสนเปล่าๆ ” นายธนกร กล่าว .-สำนักข่าวไทย