กรุงเทพฯ 19 ก.ย. – 34 โครงการของหน่วยงานพลังงานทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ปตท. 3 การไฟฟ้า กัลฟ์ และเอกชนอื่น ๆ ได้รับการคัดเลือกโครงการ ERC Sandbox ชี้ชัดเทคโนโลยีเชื่อมต่อพลังงานทดแทน เพื่อใช้เอง ลดการพึ่งพาระบบมาแรง
น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) ที่เปิดรับยื่นข้อเสนอเป็นครั้งแรกได้รับความสนใจมากจากทุกภาคส่วน แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในการที่จะรับมือ และใช้ประโยชน์จาก Disruptive Technology สำหรับในเฟสแรก มีผู้ผ่านการพิจารณาและได้รับสิทธิ์เข้าร่วมในโครงการ 34 โครงการ จากการยื่นข้อเสนอ 183 โครงการ
ทั้งนี้ โครงการที่ผ่านการพิจารณาเป็นโครงการทดสอบนวัตกรรม 3 อันดับแรก คือ โครงการทดสอบเกี่ยวกับเก็บกักประจุไฟฟ้า (Battery Storage) 9 ราย, โครงการทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer to Peer Energy Trading & Bilateral Energy Trading) 8 ราย และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) จำนวน 6 ราย เป็นผลมาจากแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงานทดแทนราคาถูกลง รวมทั้งเทคโนโลยีบล็อกเชน ส่งผลให้มีความต้องการผลิตไฟฟ้าที่ลดการพึ่งพาระบบ ขั้นตอนต่อไปโครงการที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับ สำนักงาน กกพ.จนได้ข้อสรุปจึงจะมีการลงนามในหนังสือยืนยันการเข้าร่วมโครงการระหว่างกัน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จทั้ง 34 โครงการ ภายในสิ้นปี 2562 โดยระยะเวลาทดสอบไม่เกิน 3 ปี คาดว่า ปี 2663 จะมีการเปิดโครงการระยะที่ 2
สำหรับรูปแบบ ERC Sandbox ครั้งนี้ เป็นการผ่อนผัน ผ่อนปรน ให้ผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการพิเศษในพื้นที่และระยะเวลาที่จำกัด ส่วนจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์หรือข้อกฎหมายใด ๆ ต่อไปในอนาคตนั้นก็ต้องมีการหารือกับภาคนโยบายต่อไป ซึ่งการจะออกกฎระเบียบใด ๆ ของ กกพ.ก็จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย
สำหรับรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าร่วม ERC Sandbox ทั้ง 34 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการบริหารจัดการพลังงาน Town 77 ของ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) 2. โครงการนำร่องการให้บริการรับส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบ โครงการข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและลูกค้าของผู้ผลิตไฟฟ้า ของ กฟภ. 3. โครงการ Eco-living through smart energy innovations ของสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. โครงการที่ 2 : การสร้างต้นแบบระบบการซื้อขายไฟฟ้าลักษณะ Peer-to-Peer ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเอกชน การ กฟภ. และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ของบมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL)
5. โครงการซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง บน ESS Platform ของบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด 6. โครงการ Virtual Net Metering ของบริษัท นอร์ติส ไรซ์ จำกัด 7. โครงการ MEA Energy Trading Platform (METP) ของ กฟน. 8. โครงการศรีแสงธรรมโมเดล ของโรงเรียนศรีแสงธรรม 9. โครงการพัฒนาต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนา ของ BCPG 10. โครงการ ENGY Energy is yours ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 11. โครงการ TU EGAT ENERGY ของ กฟผ.
12. โครงการ RIL Smart Industrial Estate 13. โครงการศึกษาระบบจำหน่ายไฟฟ้า แบบ Peer to Peer ผ่าน กฟภ. และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานแก๊สชีวภาพเพื่อให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้เหมาะสม ที่มหาวิทยาลัยนครพนม ของบริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมและพลังงานชุมชน จำกัด 14. โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้าชุมชนฉลาดภายในมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ : ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแบบผสมผสานกระแสตรงและกระแสสลับ ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวภาพสำหรับชุมชนต้นแบบและมหาวิทยาลัยสีเขียว ของมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่
15. โครงการพื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของจุฬา : การรับซื้อไฟฟ้าแบบ Peer to Peer อาคารอัจฉริยะ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กฟน. 16. โครงการ Gateway City Industrial Estate Smart Grid ของ กฟภ., บมจ.จีเอ็มเอส พาวเวอร์ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท อินโนเวทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด บมจ.เอ็ม ดี เอ็กซ์ (MDX) 17. โครงการ Energy Deposit Service by Virtual Battery ของ กฟน.
18. โครงการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ และการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Net Metering , Net Billing กรณีผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Partial Generator) และ Solar Cell ของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด 19. โครงการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า จากพฤติกรรมผู้ใช้ร่วมกับการลำดับความสำคัญและควบคุมโหลดไฟฟ้าและแหล่งผลิตไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ของ EA 20. โครงการจัดทำแพลตฟอร์มการบริหารจัดการแหล่งพลังงานกระจายตัวสำหรับการใช้พลังงานที่เหมาะสมและการตอบสนองด้านความต้องการไฟฟ้าของ กฟภ. 21. โครงการระบบบริหารจัดการ การตอบสนองด้านความต้องการไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานแบบอัตโนมัติ (Automated Demand Response) ของ กฟภ. 22. โครงการระบบกักเก็บพลังงานและการแชร์พลังงานจากรถยนต์ไฟฟ้า ของบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด
23. โครงการ Sun Share Smart Green Energy Community ของ BCPG 24. โครงการ Regional LNG Hub ของ บมจ.ปตท. (PTT) 25. โครงการการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด 26. โครงการ Smart Battery Energy Storage in Samui Island ของบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 27. โครงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของ กฟภ. 28. โครงการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่สถานีไฟฟ้าด่านขุนทดจังหวัดนครราชสีมา และสถานีไฟฟ้าโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ของ กฟภ.
29. โครงการ Energy Bank At เกาะพงัน ของบริษัท คอนสแตนท์ เอนเนอร์จี โซลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด 30. โครงการระบบกักเก็บพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ของบริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด 31. โครงการการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วยพลังงานลม ร่วมกับระบบสะสมพลังงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าและเพิ่มเสถียรภาพในระบบจำหน่าย ขนาด 22,000 โวลต์ ของ GUNKUL 32. โครงการบริหารจัดการพลังงาน นาลมลิกอร์ ของบริษัท ลมลิกอร์ จำกัด 33. โครงการระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่เพื่อการจัดการพลังงานหมุนเวียน ของ EA และ 34. โครงการระบบการกักเก็บพลังงานเพื่อการสนับสนุนเขตเศรษฐกิจและชุมชน ของ บมจ.เอสพีซีจี (SPCG). -สำนักข่าวไทย
