รัฐสภา 5 ก.ค. -ประธานป.ป.ช. ระบุข้อจำกัดเอาผิดคดีทุจริต ไม่ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศเพราะไทยมีกฎหมายประหารชีวิต ด้านรองอสส.แย้งไม่ควรให้อำนาจป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์-ฎีกาคดีอาญา
คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาเรื่อง “ร่างกฎหมายป.ป.ช.: ก้าวใหม่แห่งการปฏิรูปการปราบปรามการทุจริต” โดยพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของการทำงานในเวลานี้คือความล่าช้า สืบเนื่องจากการที่มีคดีเข้าสู่ระบบการทำงานของป.ป.ช.จำนวนมาก ประกอบกับบุคลากรของป.ป.ช.มีจำกัด
“ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ที่ได้เสนอไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ป.ป.ช.ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานไว้ในร่างกฎหมายด้วย คือ หากเป็นขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน แต่สามารถขยายเวลาครั้งละ 3 เดือน ส่วนขั้นตอนการไต่สวน จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปี แต่สามารถขยายเวลาได้ เพราะบางคดีมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานให้รอบด้าน” ประธานป.ป.ช. กล่าว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการฟ้องคดีต่อศาล ทางป.ป.ช.มีนโยบายจะพยายามให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดในการฟ้องคดีต่อศาล เพราะอัยการเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญการดำเนินคดีในชั้นศาล เว้นเสียแต่หากอัยการสูงสุดและป.ป.ช.ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้จริง ๆ ป.ป.ช.ถึงจะนำสำนวนมาฟ้องคดีต่อศาลเอง
ประธานป.ป.ช. กล่าวถึงการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง ว่า กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบทุกบัญชี ทำให้เกิดปัญหาเรื่องระยะเวลาการทำงาน จึงมีความคิดว่ากรณีของการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินข้าราชการระดับสูงนั้นอาจตรวจสอบเป็นกลุ่มในบางตำแหน่งที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำทุจริต แต่ในกรณีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ ต้องคงหลักการเดิมไว้ คือ การเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบและแจ้งเบาะแสต่อป.ป.ช.
“ปัจจุบันงบประมาณแผ่นดินตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีงบประมาณแก้ไขปัญหาการทุจริตประมาณ 3 พันล้านบาทจากงบประมาณทั้งหมดประมาณ 3 ล้านล้านบาท เป็น 0.01% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด คือ งบประมาณแผ่นดิน 100 บาท ใช้ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตประมาณ 10 สตางค์ ซึ่งน้อยมาก เงิน 3 พันล้านบาทเท่ากับงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่มีงบประมาณบูรณะ 3-4 พันล้านบาทต่อปี เราเป็นองค์กรอิสระจริง แต่เป็นอิสระในเรื่องของการวินิจฉัย แต่ในเรื่องอย่างอื่นเราไม่อิสระ เพราะเราต้องขอเงินและคนจากรัฐบาล” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
ประธานป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.ยังเสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในคดีทุจริตการให้สินบนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริตฉบับปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาเราไม่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศในการตรวจสอบการให้สินบนระหว่างประเทศ ซึ่งการจะทำให้การดำเนินคดีเหล่านี้ประสบความสำเร็จจะต้องได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ ข้อจำกัดคือประเทศไทยมีโทษประหารชีวิต ทำให้ประเทศในยุโรปไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือ พยานหลักฐานที่จะใช้สำหรับการดำเนินคดีและพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหาจะทำได้ยาก
ด้านนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ผ่านมา คือ ความล่าช้าในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ร่วมกันระหว่างอัยการสูงสุดกับคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งมีหลายคดีที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน เช่น อัยการขอให้เพิ่มเติมหลักฐานในบางส่วน แต่ได้รับการปฏิเสธเพราะอีกฝ่ายมองว่า พยานหลักฐานเพียงพอแล้ว จึงคิดว่าในร่างฉบับใหม่ควรแก้ไข โดยกำหนดว่าในกรณีที่ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามที่อัยการสูงสุดแจ้งไป ส่วนจะรวบรวมมาได้หรือไม่นั้น ค่อยมาพิจารณาในขั้นตอนการปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะดีกว่าการให้อีกฝ่ายปฏิเสธเสียตั้งแต่แรก
รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า ในร่างฉบับใหม่ ให้สิทธิแก่ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ซึ่งโดยหลักแล้วการอุทธรณ์คดีหรือฎีกาคดีจะเป็นหน้าที่ของคู่ความคือโจทก์หรือจำเลย คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ทางคณะกรรมการป.ป.ช.จะไม่ได้เป็นโจทก์ตั้งแต่แรก ดังนั้น การให้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาแก่ป.ป.ช. อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอาจทำให้ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
“ผมมองว่าการพิจารณาคดีในชั้นศาลจะพิจารณาโดยใช้สำนวนของป.ป.ช.เป็นหลักอยู่แล้ว มีการพิสูจน์ความจริงกันมาในศาลและอัยการสูงสุดชั้นหนึ่งแล้ว และอัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินคดีอาญาสูงสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นคนชี้ขาดเรื่องการยื่นอุทธรณ์และฎีกาในคดีอาญาทั่วไป จึงสมควรให้อำนาจสูงสุดแก่อัยการสูงสุด อย่างไรก็ตาม หากจะตรวจสอบว่าการสั่งไม่อุทธรณ์หรือไม่ฎีกาของอัยการสูงสุดกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็สามารถดำเนินการได้” รองอัยการสูงสุด กล่าว
ขณะที่นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. กล่าวว่า กรธ.ในฐานะผู้จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะนำความคิดเห็นของป.ป.ช.และอัยการสูงสุดไปพิจารณาไว้ในร่างกฎหมายที่จะเสนอให้กับสนช.ต่อไป แต่เวลานี้ กรธ.มีแนวความคิดว่า อาจจะกำหนดไว้ในร่างดังกล่าวว่า ในการวินิจฉัยของป.ป.ช.แต่ละคดี กรรมการป.ป.ช.แต่ละคนจะต้องจัดทำคำวินิจฉัยส่วนบุคคล หรือ กำหนดมาตรฐานการทำคำวินิจฉัยของป.ป.ช.ด้วย เพื่อให้สาธารณะทราบว่า ป.ป.ช.มีวิธีการในการวินิจฉัยคดีอย่างไร
“การปราบปรามการทุจริตที่จะประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการได้ เพราะปัญหาการทุจริตในปัจจุบันเกิดขึ้นเป็นกระบวนการ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย” นายชาติชาย กล่าว.-สำนักข่าวไทย
