กทม. 23 พ.ย.-สดร. ร่วมกับ 28 หน่วยงาน ตั้งภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย ศึกษาแนวทางแก้ปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ-PM 2.5 ด้าน อว. ขอผลงานเป็นรูปธรรมเข้า ครม. ใน 3 เดือน
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามจัดตั้งภาคีความร่วมมือวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย บูรณาการกำลังคน และทรัพยากรทางการวิจัยร่วมกัน เพื่อกำหนดแผนที่นำทางของการวิจัยที่เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) , สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) , กรมควบคุมมลพิษ , สมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย และมหาวิทยาลัย 23 แห่ง เข้าร่วม
ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า ภาคีความร่วมมือวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านบรรยากาศสิ่งแวดล้อมมาศึกษาวิจัยร่วมกัน ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาสำคัญของโลก เพราะโลกต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก ฉะนั้นหากกลุ่มภาคีความร่วมมือดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลในการวิจัยสาเหตุการเกิดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งหาแนวทางป้องกันผลกระทบได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็สามารถยกระดับงานวิจัยของไทยสู่ระดับนานาชาติได้อย่างภาคภูมิ
ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า ขอมอบหมายให้ภาคีความร่วมมือวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย มีผลวิจัยบางเรื่องออกมาเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน เพื่อให้กระทรวงฯ มีผลลัพธ์งานวิจัยสามารถนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อวางแผนพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการเกิดมลพิษ สอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เพื่อให้การพัฒนาและแก้ปัญหาสามารถเดินหน้าไปได้โดยเร็ว ลดปัญหาและอุปสรรค และพัฒนาวงการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศของไทยให้เข้มแข็ง
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า สดร. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ซึ่งรวมถึงคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากดำเนินการมาระยะหนึ่ง พบว่าในไทย ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ในประเทศไทยต่างกระจายอยู่ตามหน่วยงานรัฐ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทำให้ผลงานวิจัย ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 และการคาดการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สดร. จึงเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งเป็นภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย เพื่อบูรณาการและ ขยายขอบเขตความเชี่ยวชาญหลักของแต่ละหน่วยงาน ให้มีการทำงานที่สอดประสานกัน
ดร. ศรัณย์ ย้ำภาคีวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดทำแผนที่นำทางของการวิจัยแบบบูรณาการ บูรณาการวิจัยบรรยากาศที่เชื่อมโยงกับการศึกษาคุณภาพอากาศของประเทศและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จัดสร้างห้องปฏิบัติการกลางที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยสนับสนุนการวิจัยบรรยากาศ พัฒนาระบบฐานข้อมูล สร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยบรรยากาศ และผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเป็นการวิจัยในระยะยาว.-สำนักข่าวไทย