สิงคโปร์คิดค้นผ้าพันแผลต้านแบคทีเรียจากเปลือกทุเรียน
สิงคโปร์ 20 ก.ย. – นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์หาวิธีจัดการกับเศษอาหารด้วยการคิดค้นผ้าพันแผลเจลต้านเชื้อแบคทีเรียจากเปลือกทุเรียนที่ถูกทิ้ง ศาสตราจารย์วิลเลียม เฉิน ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง เผยว่า กระบวนการดังกล่าวใช้วิธีสกัดผงเซลลูโลส ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของผนังเซลล์พืช จากเปลือกทุเรียนที่ถูกหั่นและนำไปตากแห้ง แล้วนำมาผสมกับสารกลีเซอรอล ขั้นตอนนี้จะทำให้ได้ไฮโดรเจลนิ่มเพื่อนำมาใส่ในผ้าพันแผล ชาวสิงคโปร์กินทุเรียนปีละ 12 ล้านลูก เมื่อทุกคนกินเนื้อทุเรียนหมดก็ทำให้เกิดการทิ้งหรือเผาเมล็ดและเปลือกทุเรียนจำนวนมากที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์เฉินยังระบุเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีดังกล่าวยังนำมาใช้เปลี่ยนขยะอาหารอื่น ๆ เช่น ถั่วเหลืองและธัญพืช ให้เป็นไฮโดรเจลได้เช่นกัน ซึ่งเป็นวิธีช่วยลดขยะอาหารในประเทศ นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับผ้าพันแผลแบบดั้งเดิม ผ้าพันแผลแบบออร์กาโน-ไฮโดรเจล (organo-hydrogel) จะช่วยรักษาความชื้นและความเย็นของบริเวณบาดแผลได้ดีกว่า ซึ่งจะทำให้บาดแผลหายได้ไวขึ้น ในขณะเดียวกัน คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ระบุว่า การนำวัสดุเหลือใช้และยีสต์มาผลิตผ้าพันแผลต้านเชื้อแบคทีเรียนั้นคุ้มค่ากว่าการผลิตผ้าพันแผลด้วยวิธีดั้งเดิมที่ต้องใช้สารประกอบโลหะราคาสูง เช่น ไอออนเงินหรือไอออนทองแดง ส่วนผู้ค้าส่งทุเรียนชาวสิงคโปร์รายหนึ่ง กล่าวว่า เขาต้องผ่าทุเรียนมากกว่าวันละ 30 ลังในช่วงฤดูกาลทุเรียน หรือมากถึงวันละ 1,800 กิโลกรัม และมองว่าการนำส่วนต่าง ๆ ของผลไม้ที่ถูกทิ้งมาพัฒนาเป็นเจลต้านเชื้อแบคทีเรียถือเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืน. -สำนักข่าวไทย