ญี่ปุ่นเตือนโรคลมแดด

โตเกียว 22 ก.ค.- ญี่ปุ่นประกาศเตือนโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ใน 39 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัดทั่วประเทศในวันนี้ เนื่องจากอุณหภูมิสูงเกินกว่า 37 องศาเซลเซียส บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งญี่ปุ่น หรือเอ็นเอชเค (NHK) รายงานว่า ที่เมืองฮาจิโอจิ ทางตะวันตกกรุงโตเกียว อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 37.6 องศาเซลเซียส หรือ 99.6 องศาฟาห์เรนไฮต์ ส่วนที่จังหวัดกุนมะ ทางเหนือกรุงโตเกียว อุณหภูมิสูงถึง 38.2 องศาเซลเซียส หรือ 100.7 องศาฟาห์เรนไฮต์ ขณะที่ในกรุงโตเกียว ชาวญี่ปุ่นหลายคนใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยคลายร้อน เช่น ร่มและพัดลม สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นพยากรณ์ว่า อุณหภูมิในญี่ปุ่นจะลดลงในช่วงปลายสัปดาห์นี้.-814.-สำนักข่าวไทย

ลาสเวกัสร้อนทุบสถิติ ใกล้แตะ 50 องศาเซลเซียส

ลาสเวกัส 8 ก.ค.- ลาสเวกัสของสหรัฐมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 119 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 48.3 องศาเซลเซียสเมื่อวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น ทำลายสถิติเดิมเมื่อปี 2550 อันเป็นผลจากคลื่นความร้อนแผ่ครอบคลุมทั่วภูมิภาคริมฝั่งตะวันตกของสหรัฐ นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนลาสเวกัสเผยว่า ได้ลดเวลาท่องเที่ยวกลางแจ้งในตอนกลางวัน และออกไปชมเมืองในยามค่ำคืนแทน สำนักบริการสภาพอากาศแห่งชาติของสหรัฐแจ้งเมื่อวันอาทิตย์ว่า อุณหภูมิในลาสเวกัสเมื่อวันอาทิตย์สูงขึ้นอีก หลังจากเมื่อวันเสาร์แตะ 115 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 46 องศาเซลเซียส เทียบเท่าสถิติเดิมในปี 2550 สำนักบริการฯ เผยด้วยว่า ขณะนี้ประชาชนในสหรัฐประมาณ 36 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ อยู่ภายใต้คำเตือนเรื่องความร้อนจัด ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์โดมความร้อน (heat dome) เหนือรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิในเขตเมืองสูงกว่าชานเมือง โดยคาดว่าหลายพื้นที่ เช่น รัฐวอชิงตัน รัฐออริกอน รัฐแคลิฟอร์เนีย ทางเหนือของรัฐแอริโซนา และทางตอนกลางของรัฐไอดาโฮ จะมีอุณหภูมิรายวันเทียบเท่าหรือทุบสถิติเดิม นอกจากนี้ยังเตือนเรื่องมีความเสี่ยงไฟป่าเพิ่มขึ้น เพราะสภาพอากาศที่ร้อน แล้ง และกระแสลมแรง.-814.-สำนักข่าวไทย

โลกต้องกำจัดคาร์บอน 4 เท่า เพื่อให้คุมอุณหภูมิได้ตามเป้า

คณะนักวิจัยแนะนำว่า รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะต้องปลูกต้นไม้และใช้เทคโนโลยีที่จะกำจัดคาร์บอนให้ได้ 4 เท่าของที่กำจัดในแต่ละปีในขณะนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนอุตสาหกรรม

อินเดียเตือนคลื่นความร้อนระดับสีแดง

กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียประกาศเตือนภัยระดับสีแดงกับหลายพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศในวันนี้ โดยเตือนเรื่องคลื่นความร้อนรุนแรง หลังจากหลายพื้นที่ในกรุงนิวเดลีมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกือบ 50 องศาเซลเซียส เมื่อวันก่อน

โลกร้อนขึ้นเกือบแตะขีดจำกัดแล้ว

ปารีส 5 ต.ค.- อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 สูงกว่าช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.4 องศาเซลเซียส ใกล้แตะขีดจำกัดที่นานาชาติกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โคเปอร์นิคัส ไคลเมต เชนจ์ เซอร์วิซ (C3S) ซี่งเป็นองค์กรติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปเผยแพร่รายงานวันนี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายน 2566 สูงขึ้น 1.4 องศาเซลเซียสจากช่วงปี 2392-2443 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเกือบถึงระดับที่กำหนดไว้ใน “ความตกลงปารีส 2561 ” ไม่ให้สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่จำเป็นต่อการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลหายนะที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์เอลนีโญที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้มีอุณหภูมิสูงขึ้นและทำให้อากาศร้อนขึ้นมีแนวโน้มจะทำให้ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์คาดว่า โลกจะรู้สึกได้ถึงผลร้ายแรงที่สุดของเอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ในช่วงสิ้นปี 2566 ไปจนถึงปี 2567 นักวิทยาศาสต์ของยุโรปและญี่ปุ่นเพิ่งรายงานว่า เดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นเดือนกันยายนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์  หลังจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดมากกว่าทุกเดือนเท่าที่ได้บันทึกมา ส่งผลให้สภาพอากาศเอื้อต่อการเกิดภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความร้อน ไฟป่า และน้ำท่วมรุนแรง.-สำนักข่าวไทย

กรีซเผชิญคลื่นความร้อนระลอกใหม่ขณะไฟป่ายังรุนแรง

กรีซเตรียมตัวเผชิญคลื่นความร้อนระลอกใหม่ในวันนี้ ในขณะที่ไฟป่ายังคงเผาผลาญเกาะ 2 แห่งที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

3 ก.ค. เป็นวันที่โลกร้อนเป็นประวัติการณ์

ปารีส 5 ก.ค.- ข้อมูลการวัดเบื้องต้นของนักอุตุนิยมวิทยาสหรัฐชี้ว่า วันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นวันที่โลกร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา เนื่องจากมีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 17 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก ศูนย์เพื่อการทำนายสภาพแวดล้อมแห่งชาติ สังกัดสำนักงานบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติหรือโนอา (NOAA) ของสหรัฐเผยว่า อุณหภูมิอากาศบนพื้นผิวโลกรายวันเฉลี่ยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 17.01 องศาเซลเซียส ลบสถิติ 16.92 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 จึงถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มการเก็บบันทึกข้อมูลในปี 2522 อย่างไรก็ดี ตัวเลขอุณหภูมินี้ยังไม่ได้รับการยืนยันด้วยการวัดอื่น ๆ ปกติแล้วอุณหภูมิโลกเฉลี่ยมักจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม แต่เมื่อต้นเดือนมิถุนายนปีนี้ สำนักงานบริการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรปหรืออียูระบุว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยถือว่าสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยืนยันเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมว่า ปรากฏการณ์สภาพอากาศเอลนีโญเริ่มเกิดขึ้นแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิก และน่าจะทำให้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยเดินหน้าสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2567 ขณะที่การทำกิจกรรมของมนุษย์จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนราวปีละ 40,000 ตัน ต่อไป ส่วนใหญ่เป็นการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล.-สำนักข่าวไทย

โลกร้อนขึ้น 0.2 องศาเซลเซียสในช่วง 10 ปี

ปารีส 8 มิ.ย.- กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเตือนว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากเป็นประวัติการณ์ และปริมาณมลภาวะทางอากาศที่ลดลง ได้กลายเป็นปัจจัยเร่งให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 0.2 องศาเซลเซียสในช่วงปี 2556-2565 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 50 คน ระบุในรายงานด้านสภาพภูมิอากาศฉบับปรับปรุงที่เผยแพร่ในวารสารเอิร์ธ ซิสเต็ม ไซเอินซ์ ดาตา (Earth System Science Data) ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นประวัติการณ์เฉลี่ยปีละ 54,000 ล้านตัน หรือคิดเป็นวินาทีละ 1,700 ตัน แม้โลกยังไม่ร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่โลกจะปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2558 แต่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์จะปล่อยได้สูงสุดหรือคาร์บอนบัดเจ็ต (carbon budget) มีวี่แววว่าจะหมดสิ้นไปในอีกไม่กี่ปี เพราะได้หมดไปแล้วครึ่งหนึ่ง นับจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไอพีซีซี (IPCC) เริ่มเก็บข้อมูลสำหรับการจัดทำรายงานปี 2564 รายงานของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์พบข้อมูลใหม่ว่า ความสำเร็จด้านสภาพภูมิอากาศอย่างหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากลับกลายเป็นปัจจัยเร่งให้โลกร้อนขึ้น โดยพบว่าการที่โลกมีมลภาวะทางอากาศลดลงเพราะลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ทำให้โลกได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรง เพราะไม่มีอนุภาคมลภาวะที่เคยปกคลุมชั้นบรรยากาศโลก รายงานระบุด้วยว่า พื้นที่ที่เป็นผืนดินเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2543 โดยพบว่า ช่วงปี 2556-2565 มีอุณหภูมิสูงขึ้นจากช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเฉลี่ยปีละ 1.72 […]

แคนาดา-สหรัฐเตรียมเผชิญกระแสลมวนขั้วโลกครั้งใหญ่

นิวยอร์ก 4 ก.พ.- แคนาดาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐเตรียมเผชิญกับกระแสลมวนขั้วโลก (Arctic blast) ครั้งใหญ่ที่อาจทำให้บางพื้นที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหรัฐประจำภูมิภาคอเมริกาเตือนว่า หลายพื้นที่ของรัฐเมนในสหรัฐอาจมีกระแสลมเย็นจัดติดลบ 60 องศาเซลเซียส นครบอสตันประกาศปิดโรงเรียนรัฐเมื่อวันศุกร์ และคาดว่าจะมีกระแสลมเย็นจัดติดลบ 34 องศาเซลเซียส ส่วนนครนิวยอร์กที่อยู่ถัดลงมาทางใต้คาดว่าจะมีอุณหภูมิติดลบ 23 องศาเซลเซียส สำนักงานฯ ระบุว่า กระแสลมวนขั้วโลกครั้งนี้เป็นครั้งมหากาพย์ที่เกิดขึ้นในหนึ่งชั่วอายุคน หากเผชิญกับสภาพอากาศแบบนี้โดยไม่เตรียมเครื่องกันความหนาวให้เพียงพอ อาจถูกหิมะกัดเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้ภายในเวลาเพียง 5 นาที คาดว่าสภาพอากาศจะเลวร้ายที่สุดช่วงคืนวันศุกร์ถึงเช้าวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น สำนักงานฯ ยังได้ประกาศเตือนภัยสภาพอากาศทั่วรัฐควิเบกและภาคตะวันออกของแคนาดา เพราะคาดว่ากระแสลมเย็นจัดจะทำให้อุณหภูมิในนครมอนทรีออลในช่วงบ่ายวันศุกร์มีความเย็นเหมือนติดลบ 41 องศาเซลเซียส และน่าจะทำให้รัฐควิเบกมีอุณหภูมิติดลบ 50 องศาเซลเซียส  ส่วนที่กรุงออตตาวาของแคนาดามีหิมะตกและกระแสลมแรง 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดีจนถึงวันศุกร์ ทำให้ทัศนวิสัยลดลงเกือบเป็นศูนย์ คาดว่ากระแสลมที่อุ่นขึ้นจะพัดเข้าสู่ภูมิภาคนี้ในเช้าวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น.-สำนักข่าวไทย

ธารน้ำแข็งครึ่งโลกจะหายไปภายในปี 2643

วอชิงตัน 6 ม.ค.- ผลการศึกษาใหม่พบว่า ธารน้ำแข็งครึ่งโลกจะละลายหายไปหมดภายในสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 คือสิ้นปี พ.ศ.2643 อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหากช่วยกันจำกัดภาวะโลกร้อนก็จะช่วยรักษาธารน้ำแข็งที่เหลืออยู่อีกครึ่งหนึ่งไว้ได้ ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารไซเอินซ์ฉบับวันที่ 5 มกราคมวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธารน้ำแข็งจากฉากทัศน์ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นในองศาเซลเซียสที่แตกต่างกัน 4 ฉากทัศน์ ได้แก่ 1.5, 2, 3 และ 4 องศาเซลเซียส ผลการศึกษาพบว่า ยิ่งองศาเพิ่มขึ้นยิ่งทำให้ธารน้ำแข็งละลายมากขึ้น แม้แต่ฉากทัศน์ที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายในข้อตกลงปารีส ปี 2558 ธารน้ำแข็งร้อยละ 49 จากที่มีอยู่ทั้งหมด 215,000 แห่งในเวลานี้จะละลายหายไปภายในปี 2643 คิดเป็นร้อยละ 26 ของปริมาณธารน้ำแข็งทั้งหมด เพราะธารน้ำแข็งขนาดเล็กที่สุดจะละลายก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนใหญ่อยู่ตามเทือกเขาแอลป์และเทือกเขาคอเคซัสในยุโรป เทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ แต่หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส ธารน้ำแข็งทั่วโลกจะละลายหายไปมากถึงร้อยละ 83 ภายในสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นคริสต์ศตวรรษนี้ อย่างไรก็ดี ประเมินกันว่าอุณหภูมิโลกในขณะนี้จะเพิ่มขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ธารน้ำแข็งในยุโรปกลาง […]

เตือนฝรั่งเศสจะเกิดคลื่นความร้อนเร็วกว่าปกติ

ปารีส 13 มิ.ย.- สำนักอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศสเตือนว่า ฝรั่งเศสจะเกิดคลื่นความร้อนเร็วกว่าปกติในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าพื้นที่ทางใต้อาจมีอุณหภูมิแตะ 38 องศาเซลเซียส สำนักอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศสพยากรณ์ว่า อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ 35-38 องศาเซลเซียสตั้งแต่กลางสัปดาห์นี้ ส่วนอุณหภูมิต่ำสุดจะสูงกว่า 20 องศาเซลเซียส พื้นที่ทางใต้จะเผชิญความร้อนก่อนเป็นแห่งแรก แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะแผ่ขึ้นไปทางเหนือไกลเพียงใด คลื่นความร้อนน่าจะรุนแรงที่สุดระหว่างวันพฤหัสบดีถึงวันเสาร์ ถือว่ามาเร็วกว่าทุกปี เพราะฝรั่งเศสเพิ่งเข้าสู่ฤดูร้อนในเดือนนี้ แต่อุณหภูมิช่วงร้อนสุดของฤดูร้อนปีนี้จะไม่ต่างไปจากที่ผ่านมา สาเหตุที่ทำให้คลื่นความร้อนปีนี้มาเร็วกว่าปกติ เป็นผลจากความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนตัวอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างหมู่เกาะอะโซร์สกับเกาะมาเดราของโปรตุเกส ทำให้เกิดอากาศร้อนทั่วยุโรปตะวันตก ประเทศเพื่อนบ้านฝรั่งเศสอย่างสเปนก็กำลังเกิดคลื่นความร้อนช่วงต้นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในรอบ 20 ปี อุณหภูมิในเมืองเซบียา ทางใต้ของสเปนแตะ 40 องศาเซลเซียสเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย

1 2
...