สหรัฐเตรียมห้ามบางประเทศส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปไปจีน

นิวยอร์ก 31 ก.ค.- แหล่งข่าวเผยว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมออกระเบียบใหม่ในเดือนสิงหาคมที่จะขยายอำนาจของสหรัฐให้สามารถห้ามบางประเทศส่งออกอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปไปยังจีน แหล่งข่าวเผยว่า ระเบียบนี้เป็นส่วนขยายของระเบียบผลิตภัณฑ์โดยตรงจากต่างประเทศ หรือเอฟดีพีอาร์  (Foreign Direct Product Rule: FDPR) จะทำให้ผู้ผลิตชิปจีนจำนวนหนึ่งไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์การผลิตชิปจากหลายประเทศ เช่น อิสราเอล ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่จะยกเว้นการนำเข้าจากญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ ก่อนหน้านี้สหรัฐได้ควบคุมการส่งออกชิปและอุปกรณ์ผลิตชิปไปจีนสำหรับปี 2565-2566 เอฟดีพีอาร์เป็นระเบียบที่สหรัฐใช้มาตั้งแต่ปี 2502 เพื่อควบคุมการค้าเทคโนโลยีของสหรัฐ โดยให้อำนาจรัฐบาลสหรัฐยับยั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐ ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในต่างประเทศด้วย ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนให้ความเห็นต่อรายงานข่าวนี้ว่า การที่สหรัฐข่มขู่ประเทศอื่นให้กดดันอุตสาหกรรมชิปของจีนเป็นการบ่อนทำลายการค้าโลกและทำให้ทุกฝ่ายเดือดร้อน หวังว่าประเทศเหล่านี้จะต่อต้านความพยายามของสหรัฐ และปกป้องผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ.-814.-สำนักข่าวไทย 

อว. เร่งสร้างกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต

“ศุภมาส” รมว.อุดมศึกษาฯ ประกาศ อว. เร่งสร้างกำลังคนให้เพียงพอรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต ผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงให้ถึง 80,000 คน หวังยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง

ไต้หวันชี้ความขัดแย้งกับจีนจะก่อผลหายนะ

ไทเป 2 ส.ค.- ไต้หวันชี้ว่า หากจีนรุกรานไต้หวันจะก่อให้เกิดผลหายนะต่อโลก เนื่องจากไต้หวันมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และเส้นทางเดินเรือสินค้าโลก นายโจเซฟ อู๋ รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันให้สัมภาษณ์เอเอฟพีในวันนี้ว่า การใช้กำลังกับไต้หวันจะส่งผลสะท้อนกลับระดับโลก สิ่งที่ต้องทำคือการอธิบายให้ประชาคมโลกเข้าใจว่า หากเกิดความขัดแย้งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน จะเกิดผลหายนะต่อทั้งโลก เช่นเดียวกับที่สงครามรัสเซียรุกรานยูเครนทำให้โลกขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่หยุด นายอู๋ระบุว่า ความขัดแย้งข้ามช่องแคบไต้หวันจะส่งผลเชิงพาณิชย์เป็นหลัก เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าของโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งแล่นผ่านช่องแคบนี้ที่กั้นไต้หวันกับจีน และมีความกว้าง 180 กิโลเมตร เสรีภาพในการเดินเรือคือ 1 ในองค์ประกอบสำคัญของความมั่นคงและความรุ่งเรืองสากล ขณะเดียวกันไต้หวันแทบจะผูกขาดการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจสมัยใหม่ ใช้ในผลิตภัณฑ์หลากหลายอย่างตั้งแต่เครื่องชงกาแฟไปจนถึงขีปนาวุธ รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันซึ่งสังกัดพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือดีพีพี (DPP) ที่เป็นรัฐบาลเผยด้วยว่า ในช่วงที่ไต้หวันใกล้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนมกราคม 2567 จีนกำลังทำสงครามด้านการรับรู้หวังเปลี่ยนแปลงความคิดของคนกลุ่มน้อยในไต้หวันให้ลงคะแนนเลือกพรรคฝ่ายตรงข้ามเพราะจีนต้องการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง.-สำนักข่าวไทย

ญี่ปุ่นจะยกเลิกจำกัดส่งออกชิปไปเกาหลีใต้

ญี่ปุ่นจะยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ไปยังเกาหลีใต้ ขณะที่เกาหลีใต้จะถอนคำร้องเรื่องนี้ที่ยื่นต่อองค์การการค้าโลก ขณะที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศประชุมสุดยอดครั้งแรกในรอบ 12 ปี ในวันนี้

IBM จะเลิกจ้าง 3,900 คน

นิวยอร์ก 26 ม.ค.- แหล่งข่าวเผยว่า ไอบีเอ็ม (IBM) ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศรายใหญ่ของโลกจะเลิกจ้างพนักงาน 3,900 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ของพนักงานทั้งหมด โดยเป็นการเลิกจ้างเพราะการแยกธุรกิจเมื่อปี 2564 ไอบีเอ็มไม่ได้พูดถึงเรื่องการเลิกจ้างในการรายงานรายได้ประจำไตรมาสเมื่อวันพุธตามเวลาสหรัฐ โดยเผยเพียงว่า จะใช้จ่ายครั้งเดียว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,804 ล้านบาท) ในไตรมาสแรกของปีนี้ แหล่งข่าวระบุว่า เป็นเงินที่เกี่ยวกับการเลิกจ้าง แต่โฆษกของไอบีเอ็มยืนยันว่า เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับคินดริล (Kyndryl) บริษัทบริการและที่ปรึกษาด้านไอทีที่แยกตัวออกไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 และค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจด้านข้อมูลและการวิเคราะห์สุขภาพเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับผลประกอบการในปี 2565 หรือการคาดการณ์ผลประกอบการในปี 2566 ไอบีเอ็มซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2454 แจ้งว่า ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 มีกำไร 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 94,772 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 แม้ว่ารายได้ยังทรงตัวที่ 16,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 545,756 […]

จีนจะเก็บภาษีบริโภคกับบุหรี่ไฟฟ้า

ปักกิ่ง 25 ต.ค.- จีนออกประกาศในวันนี้ว่า กระทรวงคลังจะเริ่มเก็บภาษีบริโภคกับบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ประกาศระบุว่า กระทรวงคลังจะเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 36 กับการผลิตหรือนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 11 กับการขายส่งบุหรี่ไฟฟ้า รอยเตอร์รายงานว่า จีนเป็นผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลกมานานแล้ว แต่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าน้อยกว่าสหรัฐและชาติตะวันตก บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าในจีนเริ่มหันมาทำการตลาดกับคนในประเทศตั้งแต่ปี 2561 หลังจากเห็นตัวอย่างความสำเร็จของจูล (Jull) สตาร์ทอัพบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐ จนกระทั่งสำนักงานผูกขาดยาสูบแห่งรัฐประกาศในปี 2564 ให้บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าทุกรายต้องขอใบอนุญาตหากต้องการจำหน่ายต่อไป และออกระเบียบห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่แต่งกลิ่นรส ส่งผลให้ต้องปิดตัวและล้มละลายไปหลายราย ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองเซินเจิ้น ผลิตภัณฑ์ยาสูบยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักแหล่งหนึ่งของรัฐบาลกลางจีน ยอดจำหน่ายบุหรี่ครองสัดส่วนร้อยละ 5 ของภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ในแต่ละปี และมีส่วนช่วยสนับสนุนโครงการด้านเทคโนโลยีของประเทศ เนื่องจากสำนักงานผูกขาดยาสูบแห่งรัฐเป็นหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะที่ธุรกิจด้านการค้าของสำนักงานนี้ถือหุ้นในกองทุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปที่ทางการจีนให้การสนับสนุน.-สำนักข่าวไทย

สหรัฐห้ามบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันสร้างโรงงานในจีน 10 ปี

วอชิงตัน 7 ก.ย. – สหรัฐสั่งห้ามบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางไปสร้างโรงงานเทคโนโลยีล้ำสมัยในจีนเป็นเวลา 10 ปี นางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐเตรียมเพิ่มข้อกำหนดเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ (US Chips and Science Act) จะไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยการไม่อนุญาตให้บริษัทนำเงินดังกล่าวไปใช้ลงทุนในจีน หรือพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยในจีนเป็นเวลา 10 ปี ขณะที่บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี รายงานว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.83 ล้านล้านบาท) ของรัฐบาลสหรัฐเพื่อสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ หลังกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ได้ออกมาเรียกร้องการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาจีนในขณะที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาขาดแคลนชิปจนทำให้กระบวนการผลิตสินค้าล่าช้า ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้ลงนามรับรองกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ในเดือนสิงหาคม เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศด้วยงบประมาณสูงถึง 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10.2 ล้านล้านบาท) ท่ามกลามความหวั่นเกรงว่าสหรัฐกำลังตกเป็นรองจีนในด้านเทคโนโลยี ขณะที่สถานทูตจีนประจำสหรัฐในกรุงวอชิงตันได้ออกมาคัดค้านกฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการหวนคืนสู่ภาวะสงครามเย็น ปัจจุบัน สหรัฐเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ราวร้อยละ 10 ของทั่วโลก ลดลงจากเกือบร้อยละ 40 ในปี 2533 […]

ผู้นำไต้หวันว่ารอร่วมผลิต “ชิปประชาธิปไตย” กับสหรัฐ

ไทเป 1 ก.ย. – ประธาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ของไต้หวัน ระบุว่า ไต้หวันตั้งเป้าร่วมมือผลิต ‘ชิปประชาธิปไตย’ (democracy chips) กับสหรัฐ ในระหว่างพบหารือกับนายดัก ดูซีย์ ผู้ว่าการรัฐแอริโซนาของสหรัฐ ที่กำลังเดินทางเยือนไต้หวัน ประธานาธิบดีไช่กล่าวในระหว่างการประชุมที่จัดขึ้น ณ ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันในกรุงไทเปวันนี้ว่า รัฐบาลไต้หวันพยายามส่งเสริมความร่วมมือกับสหรัฐในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไต้หวันต้องเผชิญกับการขยายอำนาจแบบเผด็จการและความท้าทายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นในระบบห่วงโซ่อุปทาน ทั้งยังระบุว่า ไต้หวันตั้งเป้าผลิต ‘ชิปประชาธิปไตย’ กับสหรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์และสร้างความมั่งคั่งให้แก่พันธมิตรแห่งประชาธิปไตย ในขณะเดียวกัน นายดูซีย์ ซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐแอริโซนาจากพรรครีพับลิกัน กล่าวกับประธานาธิบดีไช่ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐกับไต้หวัน การลงทุนสร้างโรงงาน 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 440,000 ล้านบาท) ในรัฐแอริโซนาของบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง หรือทีเอสเอ็มซี ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ผลิตชิปรายใหญ่ให้กับบริษัทแอปเปิลของสหรัฐและเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก จะช่วยเพิ่มโอกาสที่เป็นไปได้ของทั้งสองฝ่ายในอนาคต  ทั้งยังระบุว่า รัฐแอริโซนาของยืนหยัดเคียงข้างไต้หวัน และตั้งตารอโอกาสที่จะทำงานร่วมกัน.-สำนักข่าวไทย

ไบเดนลงนามร่างกฎหมายส่งเสริมการผลิตชิปต้านจีนแล้ว

วอชิงตัน 10 ส.ค.- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐลงนามร่างกฎหมายมูลค่า 52,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.86 ล้านล้านบาท) เพื่อส่งเสริมการผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป หวังให้ได้เปรียบด้านเทคโนโลยีในช่วงที่เผชิญการแข่งขันจากจีนมากขึ้น เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ของญี่ปุ่นรายงานว่า สหรัฐบังคับใช้กฎหมายนี้ในขณะที่เร่งเพิ่มความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการทำให้ห่วงโซ่อุปทานชิปมีความยืดหยุ่นและพึ่งพาปรปักษ์ลดลง ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวในพิธีลงนามว่า กฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ (CHIPS and Science Act) เป็นการลงทุนในประเทศครั้งเดียวในชีวิตที่จะทำให้สหรัฐขึ้นเป็นผู้นำโลกอีกครั้งตลอดหลายทศวรรษหน้า กฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐเมื่อเดือนก่อน มีมาตรการจูงใจด้านการผลิตชิปมูลค่า 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.38 ล้านล้านบาท) งบสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาชิปรวมทั้งพัฒนากำลังคน 13,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 467,676 ล้านบาท) งบส่งเสริมกิจกรรมห่วงโซ่อุปทานและอื่น ๆ อีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17,715 ล้านบาท) และมาตรการลดหย่อนภาษีการลงทุนร้อยละ 25 ให้แก่การผลิตชิปและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เกียวโดนิวส์อธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า CHIPS ย่อมาจากคำว่า การสร้างแรงจูงใจที่เป็นประโยชน์ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Creating Helpful Incentives to […]

ไต้หวันจะขอให้ฟ็อกซ์คอนน์เลิกลงทุนในบริษัทชิปจีน

ไทเป 10 ส.ค.- เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของไต้หวันต้องการจูงใจให้ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้รับช่วงผลิตให้แก่แอปเปิลอิงค์ของสหรัฐยกเลิกการลงทุนมูลค่าเกือบ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 28,285 ล้านบาท) ในชิงหัว ยูนิกรุ๊ป ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือชิปของจีน หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานวันนี้อ้างแหล่งข่าวว่า คณะกรรมาธิการในคณะรัฐมนตรีไต้หวันยังไม่ได้อนุมัติการลงทุนดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติและสภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวันเห็นว่า จำเป็นต้องขัดขวางการลงทุนดังกล่าว เรื่องนี้ถูกยกระดับขึ้นเป็นประเด็นความมั่นคงแห่งชาติ และมีแนวโน้มจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากทางการในช่วงที่สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันทวีความตึงเครียด หลังจากฟ็อกซ์คอนน์เผยเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า ได้เป็นผู้ถือหุ้นในชิงหัว ยูนิกรุ๊ป ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน จากการลงทุนมูลค่า 798 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 28,215 ล้านบาท) ผ่านบริษัทในเครือฟ็อกซ์คอนน์ ไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกมีความกังวลมากขึ้นเรื่องจีนเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมชิปในจีน จึงได้เสนอกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อป้องกันการถูกจีนโจรกรรมเทคโนโลยีชิป ท่ามกลางกระแสวิตกเรื่องจีนกำลังเพิ่มการจารกรรมทางเศรษฐกิจกับไต้หวัน รัฐบาลไต้หวันถึงกับห้ามบริษัทต่าง ๆ ตั้งโรงงานผลิตชิปที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในจีน เพื่อเก็บเทคโนโลยีที่ดีที่สุดไว้ในไต้หวัน.-สำนักข่าวไทย

ไบเดนจะลงนามร่างกฎหมายส่งเสริมชิปสหรัฐ

วอชิงตัน 9 ส.ค.- ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐจะลงนามร่างกฎหมายในวันนี้ เรื่องการจัดสรรงบประมาณ 52,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.86 ล้านล้านบาท) สนับสนุนการผลิตและวิจัยเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป และส่งเสริมให้สหรัฐมีความสามารถในการแข่งขันกับจีนมากขึ้น ทำเนียบขาวแถลงว่า พิธีลงนามจะมีขึ้นในเวลา 10:00 น.วันนี้ตามเวลาตะวันออกสหรัฐ ตรงกับเวลา 21:00 น.วันนี้ตามเวลาในไทย โดยจะมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมครอน, อินเทล, ล็อกฮีด มาร์ติน และแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ ผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนียและอิลลินอยส์ นายกเทศมนตรีเมืองดีทรอยต์ คลีฟแลนด์ และซอลต์เลก ซิตี สมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่คณะรัฐมนตรี แกนนำอุตสาหกรมยานยนต์และสหภาพแรงงานร่วมในพิธีลงนามร่างกฎหมายด้วย ทำเนียบขาวระบุว่า การผ่านร่างกฎหมายนี้ช่วยกระตุ้นให้มีการลงทุนใหม่ ๆ ด้านชิป เช่น ไมครอนประกาศลงทุนผลิตชิปความจำมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งจะทำให้สหรัฐมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 10 ร่างกฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนชิปเรื้อรังที่กระทบต่อการผลิตสินค้าหลากหลายอย่างตั้งแต่ยวดยาน อาวุธ เครื่องซักผ้า ไปจนถึงวิดีโอเกม […]

มาเลเซียประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างชาติ

กัวลาลัมเปอร์ 13 มิ.ย. – บริษัทต่าง ๆ ในมาเลเซียตั้งแต่บริษัทเพาะปลูกปาล์มน้ำมันไปจนถึงผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จำเป็นต้องปฏิเสธคำสั่งซื้อและการขายสินค้าคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้าน เนื่องจากกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานกว่า 1 ล้านคน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังการระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทในแวดวงอุตสาหกรรมมาเลเซียระบุตรงกันว่า แม้มาเลเซียได้อนุญาตให้แรงงานต่างชาติกลับมาทำงานในประเทศได้อีกครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด แต่ก็ยังไม่มีแรงงานต่างชาติเดินทางกลับเข้ามาทำงานในมาเลเซียมากพอ เนื่องจากรัฐบาลอนุมัติล่าช้าและการเจรจาเรื่องการคุ้มครองแรงงานกับบังกลาเทศและอินโดนีเซียมีความยืดเยื้อ ขณะที่ประธานสหพันธ์ผู้ผลิตของมาเลเซีย เผยว่า แม้บริษัทต่าง ๆ มีแนวโน้มธุรกิจเติบโตในเชิงบวกและมียอดขายเพิ่มขึ้น แต่บางบริษัทก็กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างชาติอย่างหนักจนทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามคำสั่งซื้อ ส่วนประธานเจ้าหน้าที่บริหารของยูไนเต็ด แพลนเทชั่น บริษัทเพาะปลูกปาล์มน้ำมันของมาเลเซีย ระบุว่า ผู้เพาะปลูกปาล์มน้ำมันกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต ทั้งยังเปรียบสถานการณ์ในตอนนี้ว่าเป็นเหมือนการลงแข่งขันฟุตบอล 11 คน แต่มีนักฟุตบอลอยู่เพียง 7 คนเท่านั้น  ในขณะเดียวกัน ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซีย กล่าวว่า ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในมาเลเซียจำเป็นต้องปฏิเสธคำสั่งซื้อจากลูกค้าจำนวนมาก เนื่องจากแรงงานท้องถิ่นไม่สนใจที่จะทำงานในอุตสาหกรรมนี้ และส่วนใหญ่เข้ามาทำงานได้ไม่ถึง 6 เดือนก็ลาออก ทั้งนี้ ข้อมูลของรัฐบาลมาเลเซียและกลุ่มอุตสาหกรรมระบุว่า มาเลเซียขาดแคลนแรงงานอย่างน้อย 1.2 ล้านคนในธุรกิจภาคการผลิต การเพาะปลูก และการก่อสร้าง โดยที่ปัญหานี้ย่ำแย่ลงทุกวัน เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นหลังการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด. -สำนักข่าวไทย

1 2
...