ความสุขกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
21 มี.ค. – ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่เราสัมผัสได้มากขึ้นในทุกวันนี้ จากการที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นในทุกๆ ปี ดังที่เลขาธิการองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้กล่าวไว้เมื่อกลางปี 2566 ว่า เราหมดยุคโลกร้อน (Global Warming) และกำลังเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วนี้ มีผลต่อความสุขและความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์อย่างมาก ในขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนักมากขึ้นในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ มีหลายการศึกษาที่แสดงความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีหรือมีมลพิษต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของมนุษย์ที่แย่ลง อีกนัยหนึ่ง สิ่งแวดล้อมที่ดีและการพัฒนาที่ยั่งยืนมีผลดีต่อความสุขและความอยู่ดีมีสุข จาก World Happiness Report ในปี 2563 มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนและความสุขโดยรวม (จากการประเมินตนเอง สำรวจโดย Gallup World Poll) ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กัน ประเทศที่มีระดับความสุขสูงกว่าจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals- SDGs) โดยทั่วไปได้เร็วกว่าประเทศที่มีระดับความสุขต่ำ (ถึงแม้ว่าบางเป้าหมายของ SDGs ไม่ได้มีสัมพันธ์กับระดับความสุขในทางบวกก็ตาม) โดยภาพรวมระดับความสุขของประเทศและระดับของการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน ซึ่งประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียมีความสัมพันธ์ของความสุขกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าหลายการศึกษาสะท้อนว่าสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีผลต่อความสุข ความสุขไม่ได้เป็นผลของจากการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่จะส่งผลที่ทำให้การพัฒนาอย่างยืนสำเร็จได้ด้วย จากแนวคิดการพัฒนาความสุขภายในของมนุษย์ให้สูงขึ้นในระดับจิตและปัญญาตามแนวพุทธธรรม ความสุขประเภทนี้จะลดการพึ่งพิงปัจจัยจากภายนอกรวมทั้งการใช้ทรัพยากรลง […]