อินเดียแจงเหตุผลที่ค้านเรื่องเลิกใช้ถ่านหินใน COP26

นิวเดลี 15 พ.ย.- ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอินเดียชี้แจงเหตุผลที่อินเดียคัดค้านการเลิกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26)

ประเทศหมู่เกาะที่เสี่ยงจมน้ำผิดหวังข้อตกลงกลาสโกว์

ฟูนะฟูตี 15 พ.ย.- ตูวาลู ประเทศหมู่เกาะในโอเชียเนีย แสดงความผิดหวังต่อผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ว่า จะไม่สามารถหยุดยั้งภาวะโลกร้อน และจะทำให้ปัญหาน้ำทะเลสูงที่เป็นภัยต่อประเทศลุ่มต่ำรุนแรงยิ่งขึ้น นายไซมอน โคเฟ รัฐมนตรีต่างประเทศตูวาลูที่เคยกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมดังกล่าว ด้วยการยืนกลางน้ำทะเลสูงเท่าเข่าเพื่อสะท้อนว่า ประเทศของเขากำลังเผชิญกับภัยจากระดับน้ำทะเลสูง กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่มีการเร่งแก้ไขเนื้อความในนาทีสุดท้ายเรื่องยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน จากคำว่า “ทยอยเลิกใช้” เป็น “ทยอยลดใช้” เขาคิดว่าประเทศหมู่เกาะอื่น ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกก็ผิดหวังเช่นเดียวกัน ตูวาลูอยู่ทางเหนือของนิวซีแลนด์ สูงจากระดับน้ำทะเลเพียง 4 เมตร เมื่อใดที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นก็จะท่วมหลายพื้นที่ จนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ รัฐมนตรีตูวาลูระบุว่า ข้อตกลงกลาสโกว์คือความอยู่รอดของประเทศลุ่มต่ำอย่างตูวาลู ดังนั้นประเทศที่ก่อมลพิษรายใหญ่ รวมถึงเพื่อนบ้านในมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างออสเตรเลีย ควรรับปากต่อที่ประชุมเรื่องเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้สูงกว่านี้ เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ตูวาลูซึ่งมีประชากรประมาณ 11,990 คนกำลังหาช่องทางทางกฎหมายเพื่อคงความเป็นเจ้าของเขตเดินเรือทางทะเลและการได้รับการรับรองในฐานะรัฐ ในกรณีที่ถูกน้ำทะเลท่วมเกาะและหมู่เกาะทั้งหมด 9 แห่ง.-สำนักข่าวไทย

เผยร่างข้อตกลงฉบับใหม่ COP26 ดันแก้โลกร้อนมากขึ้น

กลาสโกว์ 12 พ.ย. – ร่างข้อตกลงฉบับใหม่ที่เขียนขึ้นในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในวันนี้กดดันให้ประเทศต่าง ๆ ลงมือมากขึ้นในการวางแผนต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน แต่ยังคงมีความก้ำกึ่งระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศร่ำรวย สำนักข่าวรอยเตอร์สตั้งข้อสังเกตว่า แม้ร่างข้อตกลงฉบับใหม่ยังคงระบุถึงความต้องการหลักของประเทศต่าง ๆ ในการให้คำมั่นสัญญาด้านสภาพอากาศที่เข้มงวดยิ่งขึ้นในปีหน้า แต่กลับใช้ถ้อยคำที่เบากว่าร่างข้อตกลงฉบับเดิมที่ขอให้ประเทศต่าง ๆ เลิกใช้น้ำมันเชื้อเพลงฟอสซิลอย่างค่อยเป็นค่อยไป และพยายามสร้างสมดุลเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศและประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่ต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ แม้ประเทศยากจนจะเห็นด้วยกับการให้ประเทศต่าง ๆ ให้คำมั่นสัญญาเพื่อเพิ่มเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในปีหน้า และต้องการให้ลงมือมากขึ้นเพื่อรับมือกับภัยน้ำท่วมและไฟป่าที่รุนแรง รวมถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ร่างข้อตกลงฉบับใหม่ก็ใช้ถ้อยคำที่เบากว่าร่างฉบับเดิมและล้มเหลวในเรื่องการทบทวนเป้าหมายประจำปีด้านสภาพภูมิอากาศที่ประเทศกำลังพัฒนาได้ผลักดันให้เกิดขึ้น ร่างข้อตกลงฉบับใหม่ยังระบุว่า การยกระดับคำมั่นสัญญาของแต่ละประเทศควรคำนึงถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ซึ่งหมายถึงความแตกต่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน สำนักข่าวรอยเตอร์สตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ถ้อยคำดังกล่าวถือเป็นการปลอบใจประเทศกำลังพัฒนาที่อ้างว่าไม่ยุติธรรมที่จะให้พวกเขาเลิกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยมลพิษในระดับเท่ากับประเทศร่ำรวย ซึ่งปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและมีความรับผิดชอบสูงกว่าต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศ.-สำนักข่าวไทย

จีน-สหรัฐ ประกาศข้อตกลงแก้ปัญหาสภาพอากาศร่วมกัน

กลาสโกว์ 11 พ.ย. – จีนกับสหรัฐประกาศให้คำมั่นเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่นในสกอตแลนด์ว่า จะทำงานร่วมกันเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในทศวรรษนี้ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงที่สร้างความประหลาดใจในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในช่วงโค้งสุดท้าย นายจอห์น แคร์รี ผู้แทนพิเศษของสหรัฐ เผยว่า เอกสารข้อตกลงชุดนี้ประกอบด้วยถ้อยแถลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ที่น่าตกใจ ระดับการปล่อยมลพิษที่แตกต่างกัน และความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเร่งมือแก้ปัญหาระดับการปล่อยมลพิษ รวมถึงการให้คำมั่นว่าจะดำเนินการที่สำคัญหลายอย่างในทศวรรษหน้าเมื่อจำเป็นต้องทำเช่นนั้น นอกจากนี้ ตัวแทนของสหรัฐกับจีนยังได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือของทั้งสองประเทศและเห็นพ้องที่จะแยกข้อโต้แย้งอื่น ๆ ออกจากการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศ นายเซียะ เจิ้นหัว ผู้แทนพิเศษด้านนโยบายสภาพอากาศของจีน กล่าวว่า จีนกับสหรัฐตระหนักถึงระดับการปล่อยมลพิษที่แตกต่างกันของความพยายามลดการปล่อยมลพิษในปัจจุบัน รวมถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในความตกลงปารีส ทั้งสองประเทศจึงเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวได้มุ่งเน้นเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม แต่หนักแน่นในด้านสัญลักษณ์ทางการเมืองในงานประชุมดังกล่าวที่เริ่มต้นด้วยการที่สหรัฐและจีน ซึ่งเป็นสองประเทศที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดในโลก ต่างตอบโต้กันไปมา.-สำนักข่าวไทย

“โอบามา” ตำหนิจีน-รัสเซียไม่เร่งแก้ปัญหาสภาพอากาศ

อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ เรียกร้องเมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นในสกอตแลนด์ให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตำหนิจีนกับรัสเซียว่าขาดความเร่งรีบในการควบคุมการปล่อยมลพิษ

รัฐมนตรีตูวาลูยืนปราศรัยกลางทะเลสะท้อนปัญหาสภาพอากาศ

นายไซมอน โคเฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของตูวาลู กล่าวคำปราศรัยเพื่อนำไปเปิดในงานประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ ด้วยการยืนกลางทะเลที่มีระดับน้ำลึกถึงเข่า เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าตูวาลูอยู่ในแถวหน้าของการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศ

ธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลส่งคนร่วมประชุม COP26 มากที่สุด

กลาสโกว์ 8 พ.ย.- กลุ่มรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมเผยว่า ธุรกิจเชื้อเพลิงน้ำมันและก๊าซส่งคนเป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) มากที่สุด จึงเรียกร้องให้ห้ามคนเหล่านี้เข้าร่วมประชุม กลุ่มรณรงค์ที่นำโดยโกลบอลวิทเนสส์ (Global Witness) ตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายนที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์พบว่า มี 503 รายชื่อที่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล และจะทำหน้าที่วิ่งเต้นให้ธุรกิจเหล่านี้ จึงขอเรียกร้องให้ห้ามคนเหล่านี้เข้าร่วมประชุม เพราะอิทธิพลของธุรกิจดังกล่าวคือเหตุผลใหญ่อย่างหนึ่งที่ทำให้การเจรจาของยูเอ็นตลอด 25 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแท้จริง เว็บไซต์บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษหรือบีบีซี (BBC) ระบุว่า การประชุม COP26 มีคนเข้าร่วมประมาณ 40,000 คน บราซิลส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมมากที่สุด 479 คน แต่ก็ยังน้อยกว่าตัวแทนของธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ขณะที่อังกฤษในฐานะเจ้าภาพส่งคณะผู้แทนเข้าร่วม 230 คน.-สำนักข่าวไทย

จีน-รัสเซียโต้กลับ “ไบเดน” เรื่องไม่มาร่วมประชุม COP26

จีนกับรัสเซียออกมาตอบโต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐที่กล่าวหาว่าทั้งสองประเทศขาดภาวะผู้นำที่งานประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์

“ไบเดน” ว่าจีน-รัสเซียขาดภาวะผู้นำที่งาน COP26

กลาสโกว์ 3 พ.ย. – ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวหาจีนกับรัสเซียว่าล้มเหลวในการแสดงความเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ผู้นำของทั้งสองประเทศตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกหลังไม่เดินทางไปเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ด้วยตัวเอง ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวก่อนเดินทางขึ้นเครื่องบินออกจากเมืองกลาสโกว์ว่า จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก กำลังพยายามที่จะเป็นผู้นำโลก แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กลับไม่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วยตัวเอง ทั้งที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก แต่จีนกลับเพิกเฉย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดนยังแสดงความรู้สึกไม่พอใจต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงเป็นอันดับสี่ของโลก โดยกล่าวว่า ป่าทุนดราของรัสเซียกำลังลุกไหม้อย่างรุนแรง และผู้นำรัสเซียกำลังเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศ แต่เขากลับนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้เช่นกัน ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวในงานประชุมด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติในครั้งนี้ โดยเรียกการปรากฏตัวและการให้คำมั่นของเขาที่งานดังกล่าวว่าเป็นเครื่องพิสูจน์นโยบาย ‘อเมริกากลับมาแล้ว’ (America is Back) ซึ่งแตกต่างจากแนวทางของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยึดหลัก ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First).-สำนักข่าวไทย

นายกฯ ขอบคุณทุกหน่วยงานร่วมสนับสนุนประชุม COP26 ลุล่วงด้วยดี

นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกหน่วยงานร่วมสนับสนุนการเข้าร่วมประชุม COP26 ลุล่วงด้วยดี พอใจภาพรวมการแสดงบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศ เน้นย้ำนโยบาย BCG เป็นกลไกหลักร่วมนานาประเทศลดปัญหาโลกร้อน เร่งสร้างกลไกเอกชนมีส่วนร่วม

“เกรตา ธันเบิร์ก” ชี้ผู้นำโลกแสร้งจริงจังปัญหาสภาพอากาศ

กลาสโกว์ 2 พ.ย. – เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน กล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนว่า นักการเมืองจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์แกล้งทำเป็นเอาจริงเอาจังกับอนาคตของทุกคนท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี รายงานว่า การเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดดังกล่าวของบรรดาผู้นำจากทั่วโลกทำให้เกิดการชุมนุมหลายสิบแห่งทั่วเมืองกลาสโกว์ ขณะที่ธันเบิร์ก วัย 18 ปี กล่าวกับผู้ชุมนุมรุ่นเยาว์ของ “ขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต” (Fridays for Future) ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณเฟสติวัล พาร์ก ใกล้กับสถานที่จัดการประชุม COP26 ว่า การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นจากกลุ่มนักการเมืองที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดดังกล่าว แต่เกิดจากทุกคนที่แสดงความเป็นผู้นำออกมา การประชุมสุดยอดในครั้งนี้ก็เหมือนกับการประชุมในครั้งก่อน ๆ ที่ไร้ทิศทาง ภายในงานดังกล่าวมีแต่นักการเมืองและผู้มีอำนาจที่แกล้งทำเป็นเอาจริงเอาจังกับอนาคต และแสร้งจริงจังกับสภาวะของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า ทุกคนรู้สึกเจ็บปวดและเหนื่อยหน่ายกับการแสดงออกด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียว และจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองไม่ว่าบรรดาผู้นำประเทศจะเห็นชอบหรือไม่ก็ตาม.-สำนักข่าวไทย

ผู้นำกว่า 100 ชาติจะให้คำมั่นหยุดทำลายป่าในงาน COP26

กลาสโกว์ 2 พ.ย. – บรรดาผู้นำจากประเทศทั่วโลกจะสรุปการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศในวันนี้ด้วยการให้คำมั่นครั้งสำคัญเพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2573 ในขณะที่องค์กรรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมมองว่าเป้าหมายดังกล่าวใช้เวลานานเกินไปและเรียกร้องให้เกิดการดำเนินงานที่เร็วยิ่งขึ้นเพื่อรักษาปอดของโลก ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษระบุว่า นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ จะกล่าวในการประชุมวันนี้ว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่ามีความสำคัญต่อเป้าหมายที่จะจำกัดอุณภูมิโลกให้สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ระบบนิเวศน์ที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ถือเป็นปอดของโลก ป่าไม้ช่วยสนับสนุนชุมชน การดำรงชีวิต อาหาร และดูดซับก๊าซคาร์บอนที่มนุษย์ปล่อยขึ้นสู่อากาศ ป่าไม้จึงจำเป็นต่อการอยู่รอดของมนุษย์ การให้คำมั่นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวันนี้จะช่วยให้ทุกคนมีโอกาสยุติประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ในฐานะผู้ทำลายธรรมชาติและเปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้พิทักษ์ธรรมชาติ รัฐบาลอังกฤษระบุว่า คำมั่นสัญญาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐและเอกชนเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (666,000 ล้านบาท) และได้รับการยืนยันจากผู้นำจากกว่า 100 ประเทศที่มีพื้นที่ป่าไม้รวมกันสูงกว่าร้อยละ 85 ของโลก เช่น บราซิลและรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่ามากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก รวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐและประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ดี กรีนพีซ องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ได้ออกมาตำหนิข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าต่อไปอีก 10 ปี.-สำนักข่าวไทย

1 2
...