ชัวร์ก่อนแชร์ : หลังฉีดแอสตร้าฯ ต้องเฝ้าระวังลิ่มเลือดอุดตัน 5-28 วัน จริงหรือ?

25 มิถุนายน 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง/เรียบเรียง โดย : ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์/พีรพล อนุตรโสตถิ์


บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูล หากหายไข้หลังจากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ให้ประชาชนเฝ้าระวังอาการลิ่มเลือดอุดตัน หลังจากฉีดวัคซีนฯ ไปอีก 5-28 วัน ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวพบว่า เป็นเรื่องจริง

บทสรุป แชร์ได้ แต่ต้องอธิบายเพิ่ม เพื่อให้เข้าใจข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน


  • ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังอาการของผู้รับวัคซีนอย่างน้อย 28 วัน หรือ ประมาณ 4 สัปดาห์ อยู่แล้ว
  • อย่างไรก็ตาม ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อยมาก ๆ และเกิดได้น้อยในคนเอเชีย
  • แม้หากมีอาการไม่พึงประสงค์ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็สามารถรักษาอาการให้หายได้
  • วัคซีนซิโนแวคพบโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้น้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้า 
  • การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งที่ดี สามารถลดอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ 

ข้อมูลที่ถูกแชร์

“ 💉 ใครฉีดวัคซีน AstraZeneca หายไข้แล้ว อย่าเพิ่งวางใจกันนะคะ คอยสังเกตอาการ หลังฉีด 5 -28 วัน ต่อ โอกาสเป็นไม่เยอะ แต่รู้ไว้สังเกตกันค่ะ 💉 ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังฉีดวัคซีน AstraZeneca (AZD1222) 🔸 ภาวะนี้เรียกว่า VITT (vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia)… 🔸 อาการ ประกอบด้วย ลิ่มเลือดอุดตัน + เกล็ดเลือดต่ำ ♦️ กลุ่มแรก อาการจากเกล็ดเลือดต่ำ มีพรายย้ำ จ้ำเลือด ตามตัว ♦️ กลุ่มสอง อาการลิ่มเลือดอุดตัน ขึ้นอยู่กับว่าอุดตันที่ไหน คือ 🟡 #1 “เส้นเลือดดำในสมอง…. 🟡 #2 “ลิ่มเลือดอุดตันในปอด…. 🟡 #3 “ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา…🟢 วิธีลดโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน  ที่เราพอทำได้เอง 🔸 พยายามขยับเคลื่อนไหวร่างกาย อย่านอนแช่นาน ๆ…🔸 หากหลอดเลือด มีความหนืดควรดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยได้มาก” โดยข้อมูลดังกล่าวได้ถูกส่งเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์จำนวนมาก

Fact Check : ตรวจสอบข้อมูล


ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท ตรวจสอบคำกล่าวอ้างข้างต้น กับ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน นพ.พรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับคำตอบในแต่ละประเด็น ดังนี้

Q : [แชร์กันว่า] “ใครฉีดวัคซีน AstraZeneca หายไข้แล้ว อย่าเพิ่งวางใจ ให้คอยสังเกตอาการภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดอีก 5 -28 วัน ภาวะนี้เรียกว่า VITT (vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia)” ข้อความนี้เป็นจริงหรือไม่?

A : เรื่องนี้เป็นไปตามปกติของธรรมชาติ ซึ่งระบบการเฝ้าระวังของประเทศไทยและทั่วโลกจะมีการเฝ้าระวังหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 28 วัน หรือประมาณ 4 สัปดาห์ ขอให้ประชาชนเฝ้าดูอาการของตนเองในช่วงเวลานี้ นอกจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ภาวะการเกิด VITT ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับวัคซีนโมเดิร์นนาและไฟเซอร์ แต่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะเกิดขึ้นได้มากกว่าโมเดิร์นนาและไฟเซอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนอเมริกาหรือคนยุโรป จะเป็นลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าคนเอเชีย ซึ่งจะเกิดหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 5-28 วัน จึงขอให้เฝ้าระวังอาการไปถึง 28 วัน

“อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญจากการรับวัคซีน​ป้องกันโรคโควิด 19 คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในอวัยวะสำคัญ เช่น ปอด หรือ สมอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น การเฝ้าระวังติดตามอาการผิดปกติ เช่น อาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก, หายใจผิดปกติ, ใจสั่น ปวดศรีษะ, ​มึนศรีษะ​ ตาพร่ามัว, ชา, อ่อนแรง​ เป็นระยะ​เวลาประมาณ 28 วัน หรือ 1 เดือน หลังได้รับวัคซี​น​ หากมีอาการผิดปกติ​ดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรค​ที่เหมาะสม และทันท่วงที ซึ่งสามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้” นพ.พรศักดิ์ ระบุ 

สำหรับอาการลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อาการลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามอวัยวะที่ลิ่มเลือดไปอุดตัน เช่น ในปอด จะมีอาการเจ็บหน้าอกแปล๊บๆ หายใจไม่อิ่มและเหนื่อยง่าย บริเวณขา จะเกิดอาการขาบวมข้างเดียว ในท้องจะเกิดอาการปวดท้องรุนแรง ส่วนในอวัยวะที่สำคัญต่อชีวิต (Vital organs) เช่น เส้นเลือดสมองจะเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง เมื่อ ไอ จาม จะปวดมากขึ้น และ อาจมีภาวะอ่อนแรง ชาซีกเดียวคล้าย Stroke ก็ได้ หากเกิดที่เส้นเลือดหัวใจจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หากไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้

นพ.พรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวัคซีนซิโนแวคโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีน้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้ามาก แต่ทำให้เกิดเกล็ดเลือดต่ำได้ โดยจะเกิดปฏิกิริยาคนละแบบ คือมีอาการจ้ำเลือด พบจุดเลือดตามผิวหนังประมาณ 1-2 สัปดาห์  ขณะที่ลักษณะลิ่มเลือดอุดตันในอีกรูปแบบ คือจะเกิดการสร้างภูมิต้านทานตัวเองอย่างรุนแรง ทำให้ลิ่มเลือดมาเกาะกัน จนอุดตันในเส้นเลือดใหญ่ แล้วหลุดไปอุดตันที่ปอด ที่สมองได้   

Q : [แชร์กันว่า] “…บทความฝรั่งบอกว่าอาการนี้จะเกิดในช่วงวันที่ 5 – 28 หลังฉีดวัคซีนอาการ ประกอบด้วยลิ่มเลือดอุดตัน + เกล็ดเลือดต่ำโดยผู้ป่วยจะมาด้วย 2 กลุ่ม กลุ่มแรก อาการจากเกล็ดเลือดต่ำ มีพรายย้ำ จ้ำเลือด ตามตัว กลุ่มสอง อาการลิ่มเลือดอุดตัน ขึ้นอยู่กับว่าอุดตันที่ไหน (เส้นเลือดดำในสมอง,ลิ่มเลือดอุดตันในปอด, ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา) …” เรื่องนี้เป็นอย่างไร?
A : เป็นความจริง กล่าวคือ เมื่อปฏิกิริยาเกิดภูมิต้านทานตัวเอง จะมีการทำลายเกล็ดเลือด เกล็ดเลือดก็จะต่ำ ส่วนที่เกิด VITT เกิดจากเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่มีการต่อต้านจากเกล็ดเลือด ทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อนโดยใช้เกล็ดเลือด จึงทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด เพราะฉะนั้นเกล็ดเลือดที่ต่ำ ส่วนหนึ่งจะไปกองอยู่เป็นลิ่มก้อนเลือด ฉะนั้นเกล็ดเลือดเล็กๆ ที่ล่องลอย ที่เราจะนำมาตรวจ มันก็เลยลดลง ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือก้อนเลือดที่มันเกิดเป็นปฏิกิริยาจากเกล็ดเลือดไปกองกันอยู่ ทำให้เป็นก้อนเลือด แล้วเกิดการอุดตันเส้นเลือดในปอด ถ้าไปอุดตันที่อวัยวะสำคัญไม่ว่าจะเป็นปอด สมอง หรือหลอดเลือดหัวใจก็จะทำให้ตายและพิการได้ แต่ถ้าเกิดลิ่มเลือดไปอุดตันที่แขนหรือขา ถ้าขาดเลือดก็จะทำให้ขาตาย แขนตาย อาจจะต้องได้รับการตัดแขน ตัดขาได้

Q : [แชร์กันว่า] วิธีลดโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่เราพอทำได้คือการพยายามขยับเคลื่อนไหวร่างกาย อย่านอนแช่นานๆ จริงหรือไม่?
A : ในเชิงทฤษฎีหากทำวิธีนี้เพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีน ไม่ได้ช่วยอะไร แต่จะช่วยสำหรับกรณีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นได้ในคนทั่วไปที่ไม่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตามภาวะหลอดเลือดดำใหญ่อุดตันจะพบได้ในคนที่เคลื่อนไหวน้อย โดยจะมีการอุดตันในหลอดเลือดใหญ่ๆ และอาจจะหลุดไปอุดตัน ในหลอดเลือดที่ขา ที่ปอด หรือที่สมองได้ ซึ่งพบได้ในคนทั่วไปที่มีภาวะเสี่ยง เช่น คนที่เคลื่อนไหวน้อย คนที่กินยาคุม หรือผู้หญิงที่มีโรคอ้วนและอายุมาก

Q : [แชร์กันว่า] หากหลอดเลือดมีความหนืด ควรดื่มน้ำมากๆ จริงหรือไม่?
A : ในเรื่องนี้สามารถช่วยได้บ้าง เพราะร่างกายประกอบด้วยน้ำ 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าน้ำน้อย เลือดก็จะไหลเวียนลำบาก ไม่ต้องเกิดภาวะลิ่มเลือด อาการก็จะแย่หากขาดน้ำ ดังนั้นการกินน้ำทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น จะช่วยให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลที่ดีขึ้น

Q : การฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน ทำได้หรือไม่ ?
A : นพ.พรศักดิ์ ระบุว่า ในปัจจุบันมีคำแนะนำให้เปลี่ยนชนิดวัคซีน ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงมาก จนทำให้ระบบประสาทเสียหาย เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตถาวร อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนต่างชนิดกัน ในทางทฤษฎีก็เปรียบเหมือนกับการที่เราเรียน 2 ภาษา ในการฟัง การพูด การเขียน การอ่าน ก็สามารถทำได้ แต่จะทำได้ดีหรือไม่ดีนั้น ต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม ทั้งนี้ มีผลการศึกษาที่ออกมาแล้วบ้าง เช่น การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แล้วตามด้วยวัคซีน mRNA ไฟเซอร์กับโมเดิร์นนา ภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้ดีกว่า แต่ต้องบอกว่าเป็นเฉพาะในวัคซีนโควิด-19 ดังนั้น ในกรณีที่ไม่แพ้วัคซีนแต่มีความประสงค์จะเปลี่ยนวัคซีนก็ต้องดูผลการศึกษาเพิ่มเติม

Q : หากฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ควรฉีดเข็มที่ 3 หรือไม่?
A : ทั่วโลกได้มีการวางแผนไว้แล้วว่า ต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นในเข็มที่ 3 แต่ควรฉีดเมื่อไหร่ หากตามทฤษฎีจะอยู่ระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งเป็นเชิงทฤษฎีที่ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีในอนาคต ควรจะต้องได้รับการ กระตุ้นการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดการป้องกันที่ดียิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

แพทย์ระบุ อาการลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เป็นปฏิกิริยาคนละแบบ กระบวนการเกิดคนละอย่าง
นพ.พรศักดิ์ ระบุว่า โดยปกติคนไทยสามารถเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีนได้ เรียกว่า Deep Vein Thrombosis เป็นก้อนเลือดอุดตันในหลอดเลือดใหญ่ ส่วนมากจะเกิดที่ขา สำหรับกรณีหญิงสาวที่กินยาคุมกำเนิดแล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดเป็นปฏิกิริยาเกิดขึ้นคนละแบบ ไม่ใช่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน แต่เป็นกรณีลิ่มเลือดอุดตันอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในคนปกติทั่วไป หรือคนที่กินยาคุม และหากเกิดปฏิกิริยาขึ้นที่ขา ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นปฏิกิริยาคนละแบบ กระบวนการเกิดคนละอย่าง

“เรารับวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ส่วนลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติกับคนทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีน ส่วนการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการให้วัคซีนก็พบได้ แต่เป็นคนละปฏิกิริยา ซึ่งพบได้น้อย และวัคซีนที่ฉีดให้คนไทยไปกว่า 7 ล้านโดสในขณะนี้ (18 มิ.ย.64) ยังไม่พบใครเสียชีวิตจากวัคซีน”นพ.พรศักดิ์ ระบุ

สรุปแล้วข้อมูลที่มีการแชร์กันผ่านโลกออนไลน์นี้สามารถแชร์ต่อได้หรือไม่ ?
นพ.พรศักดิ์ ระบุว่า แชร์ได้ แต่ต้องอธิบายเพิ่ม เพราะข้อมูลที่มีการแชร์ผ่านโลกโซเชียลมีเดียนั้น ไม่ได้มีความละเอียดหรือมีความชัดเจนเท่ากับตำราแพทย์ที่มีการวิจัย อีกทั้งการวิจัยแต่ละที่ก็อาจจะมีความแตกต่างกัน อย่างการวิจัยของเมืองไทยก็อาจจะไม่เหมือนกับเมืองนอก ในเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อย่างน้อยเราต้องไม่โกหกผู้ที่ได้รับวัคซีน เพราะภาวะลิ่มเลือดอุดตันสามารถพบได้ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่พบได้ค่อนข้างน้อย เรียกว่าน้อยมากๆ ผู้ที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะเกิดขึ้นได้ 1 ราย ใน 5-10 ล้านราย ทั้งนี้หากพบอาการที่ผิดปกติในช่วงเฝ้าระวัง ควรพบแพทย์ทันทีเพราะสามารถให้การรักษาได้ ฉะนั้นไม่ต้องกังวล โอกาสที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดได้น้อยมาก และถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็สามารถรักษาอาการให้หายได้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าหากเราไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วไปติดเชื้อเข้า โอกาสเสียชีวิตและอาการรุนแรงจะสูงกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน 

ข้อมูลอ้างอิง
การสัมภาษณ์ นายแพทย์พรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตึกถล่มพบเสียชีวิตเพิ่ม

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่าง

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ในพื้นที่โซน B และโซน C มีซากอาคารถล่มทับร่างอยู่ ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่างและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารต่อเนื่อง

ชายวัย 50 ไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องเมียท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากตึก สตง.

ชายวัย 50 ปี ยกมือไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องภรรยาท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากอาคาร สตง.ถล่ม ด้านรอง ผบช.น. เตือนอย่าใช้โอกาสที่มีผู้ประสบเหตุสร้างความสงสารหลอกเอาทรัพย์สิน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ข่าวแนะนำ

พ่อขอของขวัญวันเกิดให้ลูกชายรอดชีวิตจากตึก สตง.ถล่ม

พ่อของหนุ่มขอนแก่น วัย 35 ปี หนึ่งในผู้สูญหายจากอาคาร สตง.ถล่ม ขอของขวัญวันเกิดให้ลูกชายรอดชีวิต ส่วนหนุ่มช่างประปา วัย 32 ปี เหยื่อตึก สตง.ถล่ม เผาแล้ว แม่ยังทำใจไม่ได้ สะอื้นไห้หน้าเมรุ

“ชัชชาติ” เผยเตรียมกู้ 5 ร่างที่พบ-ขนย้ายชิ้นส่วนอาคารแล้ว 100 ตัน

ผู้ว่าฯ กทม. เผยเตรียมกู้ 5 ร่าง จาก 14 ร่างที่พบ ขนย้ายชิ้นส่วนอาคารแล้ว 100 ตัน ยันไม่ขีดเส้นตายหยุดช่วยเหลือ ปรับแผนเพิ่มการรื้อถอนด้วยเครื่องจักรหนักควบคู่ไปมากขึ้น