ชัวร์ก่อนแชร์:ช่วง1เดือนครึ่ง หลังฉีดวัคซีนโควิด ภูมิคุ้มกันลดต่ำลงมาก จริงหรือ?

21 มิถุนายน 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง/เรียบเรียง โดย : ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์


ตามที่มีการแชร์ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนครึ่ง ระบบภูมิคุ้มกันจะลดต่ำลงมาก หากออกนอกบ้านในช่วงหนึ่งเดือนครึ่งนี้จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ แต่เมื่อพ้นรอบ 1 เดือนครึ่งแล้ว ภูมิคุ้มกันร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น 100 ถึง 200 เท่า เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันกับ “ชัวร์ก่อนแชร์”

บทสรุป ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ


  • ภายหลังการฉีดวัคซีน 1 เดือนครึ่งไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง และยิ่งฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันก็จะยิ่งดีขึ้น โดยภูมิคุ้มกันสามารถสูงขึ้นเป็น 10 เท่า 100 เท่า หรือ 1,000 เท่าได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล 
  • แม้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงยังต้องป้องกันตนเองอยู่

ข้อมูลที่ถูกแชร์

“ถึง ทุกท่านที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว!  👋🏽 เรื่องที่ควรทราบและระวังว่าเหตุใดคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็ยังอาจจะติดโควิดได้ ▪️ปกติวัคซีนเข็มที่สองจะฉีดหลังวัคซีนเข็มแรกประมาณ 21-28 วัน ▪️วัคซีนจะเริ่มกระตุ้นแอนติบอดีในตัวเราทันทีที่ฉีดเข้าสู่ร่างกาย ▪️ระหว่างที่แอนติบอดีเริ่มได้รับการกระตุ้นในร่าง กายเรา  ระบบภูมิ คุ้มกันเดิมตามปกติในตัวเราจะลดตำ่ลง(มาก)
▪️และหลังฉีดวัคซีนเข็มที่สองแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันในตัวเราจะยิ่งลดตำ่ลง(ยิ่งขึ้น)
▪️ เมื่อครบ 14 วันหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แอนติบอดีในตัวเราจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบบภูมิคุ้มกันโควิดของเราเต็มสมบูรณ์…”

รวมถึงข้อมูลที่ถูกแชร์ในลักษณะที่คล้ายเคียงกัน “จำไว้นะคะ……..แม้ฉีดวัคซีนเข็ม2 แล้ว ต้องรอ1.5เดือน (45 วัน)จึงปลอดภัย ร่างกายจึงจะสร้างภูมิ เพิ่มขึ้น 100-200 เท่า(ช่วง45 วัน ร่างกายเราจะอ่อนแอกว่าเดิม อย่าลืมใส่แมสนะคะ และออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น เท่านั้นค่ะ) จาก Evelyn โพสต์จาก ศูนย์การแพทย์มาคาติ…. ▪️วัคซีนจะเริ่มสร้างแอนติบอดีทันทีหลังจากเข้าสู่ร่างกาย ▪️เมื่อแอนติบอดีก่อตัวในร่างกายของเรา ภูมิคุ้มกันของเราจะลดลงอย่างมาก ▪️เมื่อเรารับวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากวันที่ 21/28 ภูมิต้านทานของเราจะลดน้อยลงไปอีก….. ▪️หลังจากผ่านไป 1 เดือนครึ่ง ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเพิ่มขึ้น 100 ถึง 200 เท่า หลังจากนั้นคุณจะปลอดภัย….” ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวถูกส่งเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์เป็นจำนวนมาก


Fact Check : ตรวจสอบข้อมูล

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท ตรวจสอบข้อมูลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน นายแพทย์พรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้คำตอบดังนี้

Q: ปกติวัคซีนเข็มที่สองจะฉีดหลังวัคซีนเข็มแรกประมาณ 21-28 วัน ใช่หรือไม่ เพราะเหตุใด

A: ต้องแยกเป็นวัคซีนแต่ละตัว เช่น  ซิโนแวค หรือ แอสตร้าเซนเนก้า โดยปกติยาหรือวัคซีนเราจะต้องปฏิบัติตามใบกำกับยา หรือข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างวัคซีนซิโนแวค ใบกำกับยาระบุว่าต้องกระตุ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ ส่วน แอสตร้าเซนเนก้า จะเป็นสัปดาห์ที่ 3-4 โดยทั่วไปตามใบกำกับยาจะเป็นเช่นนี้ แต่ในชีวิตจริงหรือในเชิงปฏิบัติ      ซิโนแวค จะยังไม่เปลี่ยนแปลง จะต้องกระตุ้นการฉีดอีกครั้งภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่สำหรับ แอสตร้าเซนเนก้า จะไม่เหมือนในใบกำกับยา ซึ่งตอนนี้จะฉีดเข็มที่สองใน 12 สัปดาห์ และบางครั้งขยายถึง 16 สัปดาห์ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า ยิ่งฉีดในช่วงระยะเวลา 10 สัปดาห์ขึ้นไป ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะขึ้นได้ดี โดยแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนในลักษณะของกลุ่มเชื้อเป็น เพราะฉะนั้นเวลาเราจะกระตุ้นจริงๆ ก็จะกระตุ้นภายใน 3 ถึง 6 เดือน แต่ในใบกำกับยาตอนแรกกระตุ้นเร็วเกินไปทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี

Q: วัคซีนจะเริ่มกระตุ้นแอนติบอดีในตัวเราทันทีที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายจริงหรือไม่

A: จะบอกว่าจริงก็ใช่ เพราะเวลาฉีดวัคซีนเข้าไป ถ้าร่างกายเราตรวจพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ระบบการป้องกันตามธรรมชาติของมนุษย์ก็จะสร้างแอนติบอดี แต่ในช่วงแรกจะสร้างได้ช้า จนเมื่อมีความคุ้นเคยก็จะสร้างได้เร็วขึ้นตามระยะเวลา เหมือนเราเรียนหนังสือในระยะแรกๆก็จะค่อยๆเรียนรู้ ก.ไก่ ข.ไข่ เมื่อเรียนรู้ไปนานๆ แล้ว ก็จะอ่านหนังสือได้ไวขึ้น เรียนรู้การใช้คำได้ และรวมประโยคได้ เซลล์มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เปรียบเทียบได้กับการเรียนหนังสือ

Q: การกระตุ้นแอนติบอดีของ แอสตร้าเซนเนก้า และ ซิโนแวค มีความแตกต่างกันอย่างไร

A: ตามหลักการการกระตุ้น วัคซีนเมื่อฉีดเข็มที่สองช้า ภูมิคุ้มกันจะขึ้นดีกว่าการฉีดเร็ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะที่เหมาะสม ถ้าฉีดช้าเกินไป ภูมิคุ้มกันก็จะลดลงจนป้องกันโรคไม่ได้ก็จะเสียโอกาส เพราะฉะนั้นเราจะฉีดตอนที่ภูมิคุ้มกันเริ่มจะทยอยลดลง แต่ยังป้องกันโรคได้อยู่ ซึ่งเราก็จะกระตุ้นตอนนั้น อย่างเชื้อตายก็จะต้องกระตุ้นเร็ว

อย่างซิโนแวคต้องฉีด 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันถึงจะขึ้น ต้องฉีดห่างกันเท่าไหร่ก็ยังใช้หลักการเดิม คือฉีดช้านิดนึง ภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นดี แต่ถ้าฉีดช้าไปก็จะเสียโอกาส เพราะฉะนั้นในใบกำกับยาจึงแนะนำให้ฉีดเข็มในช่วงระหว่าง 2-4 สัปดาห์

ส่วนจะฉีดเข็มที่สองภายใน 2 สัปดาห์ ในกรณีที่พื้นที่นั้นมีความเสี่ยงสูงมาก เช่น มีการระบาดอยู่ อย่างในพื้นที่บางแคในช่วงที่ผ่านมา  แต่ประเด็นคือเมื่อฉีดเร็วภูมิคุ้มกันก็จะยังขึ้นไม่ค่อยดี ยังขึ้นไม่สูง และป้องกันได้ไม่นาน เพราะฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ควรจะต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ในอีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ถ้าได้ฉีดเข็มที่ 2 ภายใน 4 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ควรได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกครั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า

สำหรับ แอสตร้าเซนเนก้า ภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้ดีตั้งแต่ได้รับการฉีดเข็มแรก แต่ภูมิจะขึ้นเมื่อไหร่ส่วนใหญ่ จะขึ้นหลังจากที่ติดเชื้อหรือได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าไปแล้วประมาณ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่จะวัดภูมิคุ้มกันในช่วงประมาณ 4 สัปดาห์ สำหรับ แอสตร้าเซนเนก้า เมื่อภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว ก็จะลงไวในช่วงเดือนที่ 3 ฉะนั้นเราจึงต้องกระตุ้นอีกครั้งช่วง 12-16 สัปดาห์ เพราะภูมิเริ่มจะตก เริ่มจะป้องกันไม่ค่อยได้

Q: ระหว่างที่แอนติบอดีเริ่มได้รับการกระตุ้นในร่างกายเรา ระบบภูมิคุ้มกันเดิมตามปกติในตัวเราจะลดต่ำลง (มาก) จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

A: ไม่จริง เปรียบได้กับการเรียนหนังสือ ไม่มีใครเรียนหนังสือ แล้วฉลาดน้อยลง อย่างการที่เราเรียนภาษาไทย แล้วไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาไทยก็ยังอยู่กับตัวเรา ไม่ได้ทำให้ความฉลาดของเราลดลง เพราะฉะนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพียงแต่ว่าไปกวนกันได้หรือไม่ ถ้าเพิ่งเรียนรู้ทั้ง 2 ภาษาพร้อมกัน ก็อาจจะกวนกันได้ อาจจะงงๆ ในช่วงแรก อย่างเช่นการกำหนดระยะห่างของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องห่างกันกี่สัปดาห์ ซึ่งจะต้องใช้ระยะห่างกันนิดนึง การเรียนรู้ก็จะเกิดได้ดีขึ้น

Q: และหลังฉีดวัคซีนเข็มที่สองแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันในตัวเราจะยิ่งลดต่ำลง (ยิ่งขึ้น) จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

A: ไม่จริง อย่างที่ยกตัวอย่าง ไปไม่มีใครเรียนหนังสือแล้ว จะฉลาดน้อยลง ยิ่งเรียนหนังสือ ก็จะยิ่งฉลาดขึ้น ยิ่งเก่งขึ้น อ่านหนังสือมากๆ ก็จะยิ่งอ่านได้ไวขึ้น รวดเร็วขึ้น หรือการเขียนก็จะเขียนได้เร็วขึ้น ถ้าเราได้รับการฝึกทุกวัน เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีน การฉีดเข็ม 2 เข็ม 3 ก็เหมือนการฝึกปรือ เป็นการกระตุ้นทำให้เราเก่งขึ้น ไวขึ้น คล่องขึ้น

Q: เมื่อครบ 14 วันหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แอนติบอดีในตัวเราจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบบภูมิคุ้มกันโควิดของเราเต็มสมบูรณ์จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

A: กรณีซิโนแวคถ้าฉีดเข็มแรก อาจจะยังงง ๆ อยู่ เหมือนเริ่มเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ แต่ถ้าฉีดเข็มที่ 2 ก็เริ่มเรียนเป็นคำ เป็นประโยค ซึ่งซิโนแวคจะใช้การเรียนรู้นานกว่า แอสตราเซเนก้า  เพราะฉะนั้นในช่วงสองสัปดาห์ภูมิคุ้มกันก็จะค่อยๆ ขึ้น แต่ความจริงก็จะขึ้นแบบ Exponential ขึ้นแบบพุ่งกระฉูดอยู่ ไม่ได้ขึ้นแบบ Linear ยิ่งเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันก็จะยิ่งขึ้นเป็นเท่าทวีคูณและสูงสุดจะอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์  บางคนตอบสนองไว 2 สัปดาห์ก็ขึ้นเต็ม บางคนอาจจะ 4 สัปดาห์ภูมิถึงขึ้น หรือบางคนอาจจะลามไปถึง 6-8 สัปดาห์ก็มี แต่เป็นส่วนน้อย

Q: ดังนั้นช่วง 1 เดือนครึ่ง((21-28)+14 วัน) ที่ระบบภูมิคุ้มกันปกติของเราจะลดต่ำลงมากดังที่กล่าวข้างต้น จึงมี โอกาสและความเสี่ยงสูงที่ไวรัสจะโจมตีเราได้ง่าย ถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มทันทีแล้วก็ตามจริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

A: ไม่จริง ภูมิคุ้มกันไม่มีทางต่ำลง ยิ่งฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันก็จะยิ่งดีขึ้น  เหมือนที่บอกไป เวลาเรียนหนังสือแล้ว ไม่มีใครฉลาดน้อยลง แต่โดยธรรมชาติความจำสามารถเลอะเลือนได้ ในระยะเวลายาวนานแล้วเราไม่ได้ฝึกปรือ เช่น เรียนภาษาอังกฤษมาแล้ว ไม่ได้ใช้งานเลย  1 ปีเราก็จะลืมเลือน ภูมิคุ้มกันมันก็จะลดลงตามระยะเวลา ตามธรรมชาติ  

Q: คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว หากออกนอกบ้านในช่วงหนึ่งเดือนครึ่งนี้จึงเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเพราะระบบภูมิคุ้มกันปกติของเราลดต่ำลงมาก จริงหรือไม่เพราะเหตุใด

A: อยากให้แยกเป็น 2 ข้อความ ต้องบอกว่าทุกคนถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ก็สามารถติดเชื้อได้ ซึ่งการติดเชื้อได้หมายความว่าเราสามารถไปสัมผัสกับเชื้อ หากภายนอกยังมีการระบาดอยู่ ตราบใดที่ฉีดวัคซีนแล้วหรือยังไม่ได้ฉีดก็ติดเชื้อได้ทุกคน ประเด็นถัดมาถ้าคนที่ฉีดวัคซีนไปฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกันโรคแล้วเกิดการติดเชื้อ ถ้าคุณฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถป้องกันโรคได้ ถ้าภูมิเราสูง เวลาเรารับเชื้อ เราจะกำจัดเชื้อนั้นไปได้ แต่ถ้าเชื้อมีปริมาณมาก ก็ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมด อาจจะเกิดอาการป่วยได้ แต่จะเป็นอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ไม่รุนแรง

Q: อนึ่ง แม้คุณจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว คุณก็ยังคงอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้อีกจริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

A: สามารถติดได้อยู่แล้ว การติดเชื้อหมายถึงว่าร่างกายรับเชื้อเข้ามา แต่ถัดไปคือร่างกายจะสู้ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่หากในประเทศยังมีการระบาดของเชื้ออยู่ ก็อยากให้ทุกคนปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขคือการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การล้างมือ ตรวจเช็คร่างกายว่ามีไข้หรือไม่ ไม่ควรเข้าไปในสถานที่ชุมชน หรือที่ที่มีคนแออัด

Q: เมื่อผ่านระยะเวลาเสี่ยงสูงของรอบหนึ่งเดือนครึ่งไปแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น 100 ถึง 200 เท่าทีเดียว นั่นจึงพอจะนับได้ว่าคุณปลอดภัยเพิ่มขึ้น จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

A: ภูมิคุ้มกันสามารถสูงขึ้นเป็น 10 เท่า 100 เท่า หรือ 1,000 เท่าได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนอาจจะแค่ 60 เท่า บางคนก็ขึ้นเป็น 1,000 เท่า แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันได้ดีแค่ไหน เปรียบเสมือนกับเด็กเรียนเก่ง กับเด็กที่เรียนไม่ค่อยเก่ง แต่ก็ยังอ่านออกเขียนได้ ก็คือยังมีความสามารถในการป้องกันโรคได้

Q: เราจึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง และดูแลความปลอดภัยส่วนตัวในช่วงหนึ่งเดือนครึ่งนับจากการฉีดวัค ซีนครั้งแรกให้เคร่งครัด  นั่นคือเราทุกคนยังต้อง ไม่ลืมสวมหน้ากากอนามัย และมาตรการจำเป็นอื่น ๆ ออกจากบ้านเฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้น เป็นคำแนะนำที่ถูกต้องหรือไม่

A: เป็นคำแนะนำที่ถูกต้อง ในมุมมองส่วนตัวเรายังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย และดำเนินการตามมาตรการต่างๆ จนกว่าประเทศไทยจะฉีดวัคซีนได้เกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 70 เปอร์เซ็นต์  เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนมันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งภูมิคุ้มกันหมู่หมายถึงว่าคนๆ นั้น มีภูมิคุ้มกันด้วยจริงๆ ถ้าฉีด 100 คน คนที่มีภูมิอยู่ 80-90 คน ก็ต้องฉีดคนมากกว่า 80-90 คน  ถึงจะได้ค่าเฉลี่ยเป็น 50-70 เปอร์เซ็นต์ ความครอบคลุมจะต้องไม่ต่ำกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมเน้น 80 เปอร์เซ็นต์ มากกว่า

ข้อมูลอ้างอิง

การสัมภาษณ์ นายแพทย์พรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลฯ เดือด ส่งท้ายปี

ใกล้เข้ามาทุกขณะสำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคมนี้ ซึ่งถือเป็นสนามเลือกตั้งท้องถิ่นขนาดใหญ่ส่งท้ายปีนี้ การแข่งขันดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครต่างเร่งหาเสียงกันอย่างเต็มที่ โดยมีผู้สมัคร 4 คน ลงชิงชัย ไปติดตามบรรยากาศโค้งสุดท้ายว่าใครจะเป็นผู้คว้าชัย

ทอ.ส่ง F-16 ขึ้นบินป้องน่านฟ้า หลังมีอากาศยานไม่ทราบฝ่าย เหนือชายแดนไทย-เมียนมา

กองทัพอากาศส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ขึ้นบิน เพื่อพิสูจน์ฝ่ายและสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก

อุตุฯ เผยอีสาน-เหนือ อากาศหนาว กทม.อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย

กรมอุตุฯ เผยภาคอีสาน ภาคเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น

lightened Christmas tree in front of U.S. Capitol

รู้จัก “ชัตดาวน์” ของสหรัฐและผลกระทบ

วอชิงตัน 20 ธ.ค.- หน่วยงานจำนวนมากของรัฐบาลสหรัฐเสี่ยงต้องปิดทำการชั่วคราว หรือที่เรียกว่า กัฟเวิร์นเมนต์ ชัตดาวน์ (government shutdown) หลังผ่านพ้นเที่ยงคืนวันนี้ (20 ธันวาคม) ตามเวลาสหรัฐ หากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ทันเวลา หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณฉบับใหม่เมื่อวานนี้ สาเหตุที่เสี่ยงชัตดาวน์ ปกติแล้วรัฐสภาสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานรัฐบาลกลางทั้งหมด 438 แห่งก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี แต่ที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภามักทำไม่ได้ตามกำหนดเวลา และมักผ่านร่างงบประมาณชั่วคราวเพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ต่อไปในระหว่างที่สมาชิกรัฐสภาหารือกันเพื่อผ่านร่างงบประมาณจริง ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุเมื่อเข้าสู่เช้าวันเสาร์ตามเวลาสหรัฐ สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตเตรียมร่างกฎหมายที่จะขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2568 แต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันลงมติไม่เห็นด้วย และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติไม่เห็นชอบร่างงบประมาณที่เสนอใหม่ ดังนั้นหากรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณฉบับใหม่ได้ก่อนที่ร่างงบประมาณชั่วคราวฉบับปัจจุบันจะหมดอายุ ก็จะเกิดการชัตดาวน์ เพดานหนี้ที่ทรัมป์ต้องการให้แก้ นายทรัมป์ยังต้องการให้สมาชิกรัฐสภาแก้ปัญหาเรื่องการกำหนดเพดานหนี้ประเทศให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมได้มากขึ้น ก่อนที่เขาจะสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2568 รัฐสภาสหรัฐเป็นผู้กำหนดเพดานหนี้สาธารณะที่อนุญาตให้รัฐบาลก่อหนี้ แต่เนื่องจากรัฐบาลมักใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษี สมาชิกรัฐสภาจึงต้องคอยแก้ปัญหานี้เป็นครั้งคราว รัฐสภาสหรัฐกำหนดเพดานหนี้สาธารณะครั้งแรกในปี 2482 โดยกำหนดไว้ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.55 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน) และนับจากนั้นเป็นต้นมาได้ขยายเพดานหนี้แล้วทั้งหมด 103 […]

ข่าวแนะนำ

เชิญชวนร่วมงาน “มหานคร คัลเลอร์ฟูล ปาร์ตี้ 2025”

“กำภู-รัชนีย์” พาทัวร์งาน “มหานคร คัลเลอร์ฟูล ปาร์ตี้ 2025” ณ ลานจอดรถ บมจ.อสมท พบปะผู้ประกาศ ดีเจ และอินฟลูเอนเซอร์ รวมไปถึงศิลปินที่จะมาร่วมสนุกในงาน “มหานคร คัลเลอร์ฟู ปาร์ตี้ 2025”

วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลักพุ่งเหินฟ้าคารถ 6 ล้อ

รอดตายปาฏิหาริย์! วัยรุ่นซิ่งเบนซ์เสียหลัก ก่อนพุ่งเหินฟ้าติดคาบนรถ 6 ล้อ พลเมืองดีเข้าช่วยเหลือออกมาจากรถ ปลอดภัย

แม่คะนิ้งโผล่ภูกระดึง เตรียมเปิดอุทยานฯ พรุ่งนี้

จังหวัดเลย อุณหภูมิลดลง 1-2 องศาฯ “แม่คะนิ้ง” โผล่ภูกระดึง เตรียมเปิดให้ท่องเที่ยวพรุ่งนี้ (23 ธ.ค.) หลังปิดมา 9 วัน จากเหตุช้างป่า