9 เมษายน 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์
บนสังคมออนไลน์ มีการแชร์ข้อความที่ระบุว่า ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมีคำสั่งห้ามนำเข้าแอปเปิ้ลจากสหรัฐอเมริกา เพราะตรวจพบเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งหากรับประทานเข้าไปจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพได้ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้วพบว่า เป็นเรื่องจริง แต่ต้องอธิบายเพิ่ม
บทสรุป : จริงบางส่วน ไม่ควรแชร์ เป็นข้อมูลจากข่าวเก่าในต่างประเทศ และไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์ที่ขายในประเทศไทย
· สิงคโปร์และมาเลเซียมีคำสั่งห้ามนำเข้าแอปเปิ้ลจากสหรัฐอเมริกาจริง แต่เป็นเรื่องเก่าที่มีการแชร์ข้อมูลในเดือนมกราคม 2558
· กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยัน แอปเปิ้ลที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยยังปลอดภัยและสามารถรับประทานได้
ข้อมูลที่ถูกแชร์
“มาเลเซียและ สิงคโปร์ กระทรวงสาธารณสุข ห้าม แล้ว แอปเปิ้ล จาก สหรัฐอเมริกา และยุโรป ตั้งแต่ 10 วันที่แล้ว ให้ความสำคัญกับ ทุกคน อย่า รับประทานแอปเปิ้ลทุกชนิด ในขณะ นี้ ไม่ว่าจะเป็น แกรนนี่สมิ ธ , Enza , กาล่าดินเนอร์ ฯลฯ มีผู้เสียชีวิต หลายคน เพราะ เชื้อแบคทีเรีย ที่พบใน แอปเปิ้ล เหล่านี้ เชื้อแบคทีเรียนี้ มีชื่อว่า Listeria มันสามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรง ที่คุกคาม ชีวิต ความเจ็บป่วย แอปเปิ้ล ทั่วโลก จะถูกรวบรวมและ ส่งไปยัง ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อการตรวจสอบ ต่อไปแบ่งปันข้อความนี้เพื่อ คนที่คุณรัก ก่อนที่จะสาย เกินไป งดทานแอปเปิ้ล ใด ๆ ในขณะนี้”
สืบหาต้นตอของข้อมูล
ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องจริงที่มีการแชร์มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 โดยสืบเนื่องมาจากการที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาฯ (Department of Health and Human Service Food and drug administration หรือ USFDA ) ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อลิสทีเรีย (Listeria) ในแอปเปิ้ลพันธุ์กาล่า ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Big B” และแอปเปิ้ลพันธุ์ แกรนนี่ สมิธ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Big B” หรือ “Granny’s Best” ซึ่งพบจากกระบวนการผลิตของบริษัท Bidart Bros. ในสหรัฐอเมริกา จากนั้นทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาฯ ได้มีการแจ้งเตือนผู้บริโภคและเรียกคืนแอปเปิ้ลในรอบการขนส่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 จากบริษัท Bidart Bros. เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสหรือบริโภคได้
ข้อความห้ามรับประทานแอปเปิ้ลที่นำเข้าจากต่างประเทศ ได้ถูกแชร์กลับมาอีกครั้งในวันที่ 6 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ผ่านเฟซบุ๊ก ThaiTribune มีผู้ติดตามมากกว่า 63,000 คน โดยข้อความที่ถูกแชร์มีผู้กดไลก์จำนวน 81 คน มีการแชร์มากถึง 10 ครั้ง และมีการแชร์ข้อมูลเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์เป็นจำนวนมาก
Fact Check : ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่ถูกแชร์
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้วพบว่า ภายหลังการแจ้งเตือนจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาฯ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2558 กรณีการพบเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนในกระบวนการผลิตแอปเปิ้ลของบริษัท Bidart Bros. นั้น นอกจากการประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ที่ห้ามนำเข้าแอปเปิ้ลจากสหรัฐอเมริกาตามที่ระบุในข่าวแล้ว ประเทศไทยยังได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา เรื่อง องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA) แจ้งการเรียกคืนสินค้าของบริษัท Bidart Bros.
ประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนจาก USFDA ให้เรียกคืนแอปเปิ้ลล็อตนั้น
ข้อมูลในหนังสือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับ ระบุใจความว่า สินค้าของบริษัท Bidart Bros. ถูกเรียกคืนจากการจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากตรวจพบว่าการใช้หรือสัมผัสกับสินค้าดังกล่าว อาจเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ และองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลว่า สินค้าดังกล่าว ถูกส่งออกไปจำหน่ายในประเทศไทย หรือบริเวณใกล้เคียง แต่เนื่องจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) ไม่สามารถติดตามตรวจสอบสินค้าที่ได้ถูกส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ จึงได้แจ้งมายังทางการไทย เพื่อพิจารณาติดตาม ตรวจสอบและเรียกคืนสินค้าเหล่านั้นออกจากการจัดจำหน่ายในประเทศไทยตามที่เห็นสมควรต่อไป
กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันแอปเปิ้ลในไทยปลอดภัยทานได้
วันที่ 16 มกราคม 2558 นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเรียกคืนแอปเปิ้ลของบริษัท Bidart Bros. สืบเนื่องมาจากมีการตรวจพบว่า แอปเปิ้ลพันธุ์กาล่า และแอปเปิ้ลพันธุ์แกรนนี่ สมิท ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Big B” และ “Granny’s Best” มีแบคทีเรียที่พบในดิน และอาหารดิบ ที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคลิสเทริโอซิส ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิต ขณะที่การตรวจสอบการนำเข้าจากบริษัทผู้ผลิตดังกล่าวผ่านบริษัทส่งออก 6 ราย มายังไทย เบื้องต้นพบมีแอปเปิ้ล 1 ล็อตส่งเข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง และขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้กักสินค้าไว้ตรวจสอบแล้ว แต่ยืนยันแอปเปิ้ลที่วางจำหน่ายอยู่ในขณะนี้ยังสามารถรับประทานได้ปลอดภัย
“อย.” แนะล้าง-ปอกเปลือกผลไม้ก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัย
วันที่ 19 มกราคม 2558 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวย้ำว่า หากพบแอปเปิ้ลไม่ได้มาตรฐานหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค อย. จะไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ามาภายในประเทศอย่างเด็ดขาด รวมทั้งติดตามสถานการณ์พร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยควรล้างและปอกเปลือกผลไม้ แยกภาชนะที่ใช้กับของดิบและสุก หมั่นทำความสะอาดภายในตู้เย็น และล้างมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสกับอาหารสดทุกชนิด จะช่วยป้องกันปนเปื้อนของเชื้อโรคได้
“CDC” เผย เฉพาะแอปเปิ้ลเคลือบคาราเมลของ Bidart Bros. เท่านั้นที่ทำให้ล้มป่วย
ขณะที่ U.S. Embassy & Consulates in Indonesia (สถานทูตและสถานกงศุลของสหรัฐอเมริกา ในอินโดนีเซีย) และ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) (ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ) ระบุตรงกันว่า อาการเจ็บป่วยภายหลังการรับประทานแอปเปิ้ลจาก Bidart Bros. เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลเคลือบคาราเมลเท่านั้น และฤดูกาลจัดส่งของแอปเปิ้ลจาก Bidart Bros. ในล็อตนี้ จัดส่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ส่วนแอปเปิ้ลของบริษัทรายอื่นที่ผ่านกระบวนการผลิตในสหรัฐอเมริกายังปลอดภัยและไม่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืน มีเพียงแอปเปิ้ลจากบริษัท Bidart Bros. เท่านั้นที่พบการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรีย “ลิสทีเรีย” (Listeria) นอกจากนี้ CDC รายงานว่า พบผู้ป่วย 35 คนจาก 12 รัฐในสหรัฐอเมริกาที่ล้มป่วยจากการทานแอปเปิ้ลจาก Bidart Bros. ทั้งนี้จากการสอบถามจากผู้ป่วยจำนวน 28 คนจาก 31 คนให้สัมภาษณ์ว่าได้ทานแอปเปิ้ลเคลือบคาราเมลก่อนจะล้มป่วย และมีรายงานว่าในกรณีนี้ มีผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับเชื้อลิสทีเรีย อย่างน้อย 3 ใน 7 ราย
“ลิสทีเรีย” (Listeria) คืออะไร
วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ปีที่ 58 ฉบับที่ 183 เดือนพฤษภาคม 2553 หน้าที่ 5-6 อธิบายว่า ลิสทิเรีย โมโนไซโตจีเนส เป็นแบคทีเรียในสกุล ลิสทิเรีย พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ มูลสัตว์และสิ่งปฏิกูลต่างๆ นอกจากนี้ยังพบในทางเดินอาหารของสัตว์ชนิดต่างๆ และในน้ำนมด้วย การแพร่ของเชื้อนี้ส่วนใหญ่จะแพร่ผ่านอาหารที่บริโภค การสัมผัส หรือหายใจนำแบคทีเรียชนิดนี้เข้าไป นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของเชื้อตามพื้นผิวที่สัมผัสอาหาร อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิตอาหาร เป็นต้น
อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อ “ลิสทีเรีย”
วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ปีที่ 58 ฉบับที่ 183 เดือนพฤษภาคม 2553 หน้าที่ 6 ระบุว่า หากได้รับเชื้อเข้าไป เชื้อสามารถทำให้เม็ดเลือดขาวแตกและเกิดโรคโลหิตเป็นพิษได้ หากเชื้อกระจายไปสู่สมองและไขสันหลัง ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบในหญิงตั้งครรภ์เชื้อจะแพร่ผ่านทางทารกไปสู่ตัวอ่อนทำให้เกิดการแท้งได้
พาดหัวที่หวือหวาทำสังคมเข้าใจผิดได้
การแชร์ข้อมูลงดรับประทานแอปเปิ้ลทุกชนิดนั้น อาจเกิดจากการพาดหัวข่าวที่หวือหวาในช่วงเวลานั้นๆ (เดือนมกราคม 2558) อาทิ “สั่งกักแอปเปิ้ลอันตราย มะกันเตือนไทยมีปนเปื้อน ยี่ห้อ‘BigB’เชื้อร้ายถึง ตาย”, “มะกันเตือน….พบสารปนเปื้อนใน แอปเปิ้ลนำเข้าจากสหรัฐฯ”, “สั่งกักแอปเปิ้ลมะกันหลังพบเชื้อก่อสมองอักเสบ” , “ไทยผวาอีก สั่งกัก”แอปเปิ้ล”มะกัน คาด่านตรวจแหลมฉบัง หลังอย.สหรัฐแจ้งเตือน อาจปนเปื้อนแบคทีเรีย”
ประโยคพาดหัวข่าวมักจะเป็นประโยคสั้นๆ ที่พาดหัว เน้นสีสัน เรียกความสนใจจากผู้ชม จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและส่งต่อข่าวสารที่คาดเคลื่อนได้ เช่น พบสารปนเปื้อนในแอปเปิ้ลนำเข้าจากสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดการตีความว่า แอปเปิ้ลทุกชนิดที่มาจากสหรัฐอเมริกา มีอันตรายทั้งหมด ทั้งที่ความเป็นจริงเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตแอปเปิ้ลของบริษัท Bidart Bros. เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น ขณะที่แอปเปิ้ลที่ผ่านกระบวนการผลิตจากบริษัทอื่นๆยังมีความปลอดภัยและสามารถรับประทานได้ และจากการแถลงข่าวของภาครัฐพบสินค้าเพียง 1 ล็อตที่ส่งมาจากสหรัฐฯ นำเข้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบัง แต่ไม่พบว่ามีแอปเปิ้ลยี่ห้อดังกล่าวอยู่ในล็อตนั้น
บทสรุป
จริงบางส่วน ไม่ควรแชร์ เป็นข้อมูลจากข่าวเก่าในต่างประเทศ และไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์ที่ขายในประเทศไทย
- ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์มีคำสั่งห้ามนำเข้าแอปเปิ้ลจากสหรัฐอเมริกาจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2558 อันเนื่องมาจาก องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and drug administration) ตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย (Listeria ) ในกระบวนการผลิตแอปเปิ้ลของบริษัท Bidart Bros.
- เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงมีการเรียกคืนแอปเปิ้ลที่ผ่านกระบวนการผลิตจาก บริษัท Bidart Bros. ในช่วงรอบการขนส่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557
- ส่วนแอปเปิ้ลที่มาจากบริษัทอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา ยังปลอดภัยและสามารถรับประทานได้
- อาการเจ็บป่วยภายหลังการรับประทานแอปเปิ้ลจาก Bidart Bros. เชื่อมโยงกับแอปเปิ้ลคาราเมลเท่านั้น
- แอปเปิ้ลในประเทศไทยยังปลอดภัยและสามารถรับประทานได้ตามปกติ
ข้อมูลอ้างอิง
1. Department of health and human services food and drug administration
https://www.fda.gov/media/92680/download
2. ThaiTribune
https://www.facebook.com/thaitribune1/posts/1561119754095195
3. Malaysia bans imports of Gala, Granny Smith apples from the US
https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/malaysia-bans-imports-of-gala-granny-smith-apples-from-the-us
4. เกษตรฯแถลงสหรัฐเรียกคืนแอปเปิ้ลจากบ.Bidart Bros
https://www.posttoday.com/social/general/341547
5. U.S. Apple Recall Applies Only to One Producer, All Other Apples are Safe
https://id.usembassy.gov/u-s-apple-recall-applies-only-to-one-producer-all-other-apples-are-safe/
6. Multistate Outbreak of Listeriosis Linked to Commercially Produced, Prepackaged Caramel Apples Made from Bidart Bros. Apples (Final Update)
https://www.cdc.gov/listeria/outbreaks/caramel-apples-12-14/index.html
7. อย. เผยมาตรการตรวจเข้มแอปเปิ้ลนำเข้าจากสหรัฐ ขอผู้บริโภควางใจ
http://pca.fda.moph.go.th/public_media_detail.php?id=2&cat=50&content_id=590
8. วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ ปีที่ 58 ฉบับที่ 183 เดือนพฤษภาคม 2553
http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/2553_58_183.pdf
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter