17 มกราคม 2568
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
Brain Rot (คำนาม) หมายถึง การเสื่อมถอยของสภาพจิตใจหรือสติปัญญาของบุคคล จากการเสพสื่อที่เนื้อหาไม่มีสาระหรือไม่ท้าทายสติปัญญาในปริมาณที่มากเกินไป โดยเฉพาะการเสพสื่อไม่มีคุณภาพทางออนไลน์
Brain Rot ถูกยกให้เป็นคำแห่งปีหรือ Word of the Year โดย Oxford English Dictionary นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกให้เป็นคำที่เข้ารอบสุดท้ายของการจัดอันดับ Word of the Year โดยพจนานุกรมอีกหลายสำนัก ทั้ง Collins English Dictionary, Macquarie Dictionary และ Dictionary.com
Oxford English Dictionary พบว่า ความนิยมของคำว่า Brain Rot เพิ่มขึ้นถึง 230% ระหว่างปี 2023 ถึงปี 2024 จนได้รับการโหวตจากผู้ลงคะแนนกว่า 37,000 คน เลือกให้เป็นคำแห่งปีของ Oxford English Dictionary ประจำปี 2024
หลักฐานการใช้คำว่า Brain Rot เป็นครั้งแรกปรากฏใน Walden หนังสือบรรยายการใช้ชีวิตในชนบทของ เฮนรี เดวิด เทอโร ตีพิมพ์เมื่อปี 1854
ในหนังสือ เฮนรี เดวิด เทอโร วิพากษ์วิจารณ์สังคมในสมัยนั้นที่ผู้คนเริ่มลดทอนความสำคัญต่อแนวคิดที่มีความซับซ้อน หรือมุมมองที่สามารถตีความได้หลายรูปแบบ และใส่ใจแต่แนวคิดที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ซึ่งเขามองว่าเป็นสัญญาณการเสื่อมถอยทางสภาพจิตใจและสติปัญญาของผู้คนในสังคม
“While England endeavours to cure the potato rot, will not any endeavour to cure the brain-rot – which prevails so much more widely and fatally?”
“ขณะที่อังกฤษพยายามเหลือเกินที่จะแก้ปัญหามันฝรั่งเน่า แต่ไม่ยอมทำอะไรเลยกับปัญหาสมองเน่า ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างและสาหัสยิ่งกว่า”
มีการใช้คำว่า Brain Rot ในโลกออนไลน์ครั้งแรกช่วงต้นยุค 2000s เพื่อวิจารณ์ความไร้สาระของรายการเกมโชว์และวิดีโอเกม และกลายเป็นมีมดังตั้งแต่ปี 2023 เมื่อคำว่า Brain Rot ถูกใช้วิจารณ์ความหมกมุ่นในการเสพสื่อทางออนไลน์ของคนในรุ่น Generation Alpha หรือคนที่เกิดในช่วงระหว่างปี 2010 ถึง 2024
ในปี 2024 คำว่า Brain Rot มีความหมายทั้งต่อสื่อคุณภาพต่ำที่นำเสนอผ่านทางอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงผลกระทบในแง่ลบต่อคนที่เสพสื่อประเภทดังกล่าวอีกด้วย
ตัวอย่างสื่อที่เข้าข่ายเป็น Brain Rot ได้แก่ Skibidi Toilet ซีรีส์แอนิเมชันทาง Youtube ของ อเล็กซ์ เกอราซิมอฟ ยูทูบเบอร์ชาวจอร์เจีย ที่มียอดซับสไครบ์เกือบ 45 ล้านครั้ง หรือมีม only in Ohio คลิปวิดีโอขนาดสั้น ที่นำเสนอเหตุการณ์แปลกประหลาดที่อ้างว่าเกิดขึ้นในรัฐโอไฮโอ
แม้เนื้อหาจะไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อเยาวชน แต่ความนิยมของการเสพสื่อดังกล่าว นำไปสู่ข้อถกเถียงในสังคมว่า การที่เด็กซึ่งอยูในวัยเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กลับนิยมเสพสื่อที่ไม่ประเทืองปัญญาเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการสมองในอนาคต
Newport Institute ศูนย์บำบัดสุขภาพจิตในของสหรัฐอเมริกา กล่าวถึง Brain Rot ในฐานะความเสื่อมถอยทางสติปัญญาอันเกิดจากการใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไป
หนึ่งในพฤติกรรมที่นำไปสู่ภาวะ Brain Rot ได้แก่การไถหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานเพื่อดูแต่เนื้อหาในแง่ลบ
ผลจากภาวะ Brain Rot นำไปสู่ปัญหาการจัดการข้อมูลในชีวิตประจำวัน ปัญหาด้านทักษะการแก้ปัญหา และปัญหาการตัดสินใจถดถอย
เพื่อป้องกันภาวะ Brain Rot ควรจำกัดเวลาที่ใช้ไปกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ลบแอปพลิเคชันที่ก่อให้เกิดความฟุ้งซ่านออกไปจากสมาร์ตโฟน รวมถึงกดปิดการแจ้งเตือนที่ไม่จำเป็น
ข้อมูลอ้างอิง :
https://corp.oup.com/news/brain-rot-named-oxford-word-of-the-year-2024/
https://www.dictionary.com/e/word-of-the-year-2024/
https://www.collinsdictionary.com/woty
https://www.macquariedictionary.com.au/word-of-the-year/word-of-the-year-2024/
https://en.wikipedia.org/wiki/Brain_rot
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter