30 พฤศจิกายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีน DTaP เผยแพร่ทาง Instagram และ Facebook ในต่างประเทศ โดยอ้างว่าการฉีดวัคซีน DTaP เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคคอตีบ โรคไอกรน และโรคบาดทะยัก ให้กับทารกเป็นอันตราย เพราะเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยโรคใหลตาย หลักฐานมาจากข้อมูลในฉลากวัคซีน DTaP ที่ระบุว่าโรคใหลตายในทารก เป็นหนึ่งในอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีน DTaP
บทสรุป :
- ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขสหรัฐฯ ยืนยันไม่พบวัคซีน DTaP เกี่ยวข้องกับโรคใหลตายในทารก
- โรคใหลตายในทารกที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน ได้รับการยืนยันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
วัคซีนที่ตกเป็นเป้าโจมตี ได้แก่ INFANRIX วัคซีน DTaP ของบริษัท GSK Biologicals โดยในเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลของวัคซีน INFANRIX ที่รับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็มีการระบุ โรคใหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDS) เป็นหนึ่งในอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี โรคใหลตายในทารกและอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ที่ระบุในฉลากของวัคซีน INFANRIX เป็นอาการที่ได้รับแจ้งหลังจากวัคซีนผ่านการอนุมัติแล้ว ซึ่งเป็นการแจ้งโดยสมัครใจและยังไม่มีการตรวจสอบว่าสาเหตุของอาการไม่พึงประสงค์เหล่านั้น มีความสัมพันธ์กับวัคซีนหรือไม่
โฆษกขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวนำมาจากระบบรายงานเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากวัคซีน (VAERS) ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคใหลตายในทารกหลังการฉีดวัคซีน INFANRIX พบได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนทารกที่ได้รับวัคซีน จึงไม่พบว่าวัคซีน DTaP ยี่ห้อ INFANRIX เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคใหลตายในทารกแต่อย่างใด
ชาร์ลอต โมเซอร์ ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์การศึกษาวัคซีน โรงพยาบาล Children’s Hospital of Philadelphia ชี้แจงว่า บริษัทเวชภัณฑ์จำเป็นต้องรายงานปัญหาจากการใช้ยา แม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคที่เกิดกับผู้รับวัคซีน จะมีสัดส่วนไม่แตกต่างจากผู้ไม่ได้รับวัคซีนก็ตาม
ข้อจำกัดทางกฎหมายดังกล่าว แตกต่างจากรายงานของหน่วยงานทางการแพทย์ ทั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) หรือ สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (AAP) ที่จะทำการตรวจสอบอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนที่รายงานอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่าอาการต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งจะมีความแม่นยำมากกว่าข้อมูลที่เปิดเผยโดยบริษัทผู้ผลิตยา
งานวิจัยปี 1994 โดยสถาบันยาแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ National Academy of Medicine ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างโรคใหลตายในทารกกับวัคซีน DTP ซึ่ง ชาร์ลอต โมเซอร์ ก็เชื่อว่าวัคซีน DTaP รุ่นใหม่ก็ไม่มีความสัมพันธ์กับโรคใหลตายในทารกเช่นกัน
วัคซีน DTP และ DTaP ไม่ใช่สาเหตุโรคใหลตายในทารก
ในอดีตมีรายงานพบทารกอเมริกันเสียชีวิตด้วยโรคใหลตายในทารก หรือ SIDS หลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีน DTP จำนวนมาก รวมถึงเคสของทารกฝาแฝดที่เสียชีวิตด้วยโรค SIDS ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากรับวัคซีน DTP นำไปสู่การสอบสวนหาความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนกับโรคใหลตายในทารก
โรคใหลตายในทารก หรือ SIDS เป็นโรคที่เกิดกับทารกในวัยก่อน 1 ขวบ ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุของโรคได้แน่ชัด ข้อสันนิษฐานมีทั้งสาเหตุจากโรคประจำตัวที่ตรวจไม่พบในทารก และ การให้ทารกนอนคว่ำหน้า
และเนื่องจากทารกจะได้รับวัคซีน DTP หรือวัคซีน DTaP ในช่วงขวบปีแรกด้วยเช่นกัน ดังนั้นการพบทารกเป็นโรคโรคใหลตายก่อนอายุ 1 ขวบ หลังจากฉีดวัคซีน DTaP อาจไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่า การเสียชีวิตมีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน
ข้อมูลจากศูนย์การศึกษาวัคซีนโรงพยาบาล Children’s Hospital of Philadelphia ระบุว่า ทารกกว่า 90% จะได้รับวัคซีนก่อนอายุ 1 ขวบ และมีเด็กเสียชีวิตจากโรคใหลตายในทารกปีละ 1,600 รายทุก ๆ ปี
ในทางสถิติจะพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบจะเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนไปเพียง 24 ชั่วโมง จำนวน 50 รายทุก ๆ ปี ซึ่งไม่อาจระบุได้ว่าการเสียชีวิตเป็นผลจากวัคซีนหรือไม่
นอกจากนี้ สัดส่วนการเสียชีวิตด้วยโรคใหลตายในทารกที่ไม่ได้รับวัคซีน ก็มีในสัดส่วนพอ ๆ กับทารกที่ฉีดวัคซีน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า โรคใหลตายในทารกไม่มีความสัมพันธ์กับวัคซีน
ในการตรวจสอบภายหลังยังพบว่า ฝาแฝดที่เสียชีวิตด้วยโรคใหลตายในทารกหลังฉีดวัคซีน DTP ไม่นาน ได้รับการยืนยันว่าสาเหตุมาจากการแพ้ส่วนประกอบในวัคซีนอย่างรุนแรง ไม่ใช่สาเหตุจากโรคใหลตายในทารกอย่างที่เข้าใจ
เด็กตายจาก SIDS ลดลง
ข้อมูลจาก CDC ระบุว่า ปัจจุบันเด็กอเมริกันเสียชีวิตด้วยโรคใหลตายในทารกลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยเสียชีวิต 130 รายต่อประชากรทารก 100,000 ราย เมื่อปี 1990 ลดลงมาเหลือ 38 รายต่อประชากรทารก 100,000 ราย ในปี 2020
สาเหตุที่เด็กตายด้วยโรค SIDS ลดลง มาจากความสำเร็จในการรณรงค์ให้ผู้ปกครองมีความรู้ด้านการป้องกันทารกจากโรคใหลตาย หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนให้ทารกนอนหงายแทนการนอนคว่ำหรือนอนตะแคงข้าง ซึ่งเป็นท่านอนที่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยโรคใหลตายมากกว่าทารกที่นอนหงาย
ข้อมูลอ้างอิง :
https://apnews.com/article/fact-check-sids-vaccine-dtap-cdc-227447573826
https://www.reuters.com/fact-check/fda-does-not-list-sudden-infant-death-dtap-vaccine-side-effect-2023-09-22/
https://healthfeedback.org/claimreview/dtap-vaccine-isnt-associated-sudden-infant-death-syndrome-whooping-cough-vaccine-historic-decline-cases/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter