บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์ 5 อาการสัญญาณโรคไอกรน มีทั้งไอแห้งรุนแรง 2-3 สัปดาห์ ไข้ต่ำ 38 องศาเซลเซียส มีน้ำมูกและอาเจียน มีเลือดออกบริเวณตาขาว และหายใจเข้ามีเสียง “วู้ป” จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
สัญญาณโรคไอกรน 5 อย่างเป็นเรื่องจริง แต่บางคนติดเชื้อไอกรนก็ไม่ได้มีอาการครบ 5 อย่าง
สัญญาณข้อที่ 1. ไอแห้งรุนแรงติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ จริงหรือ ?
จริง… ถ้าเป็นไอแห้ง อาจจะเป็นไอกรน หรือโรคอื่นก็ไอแบบนี้ได้ เช่น หอบหืด หรือวัณโรค
ถ้ามีอาการไอแห้งเกิน 2 สัปดาห์ แพทย์จะต้องตรวจแล้วว่าเป็นโรคอะไรกันแน่
ถ้าเป็นโรคไอกรนจริงและไม่ได้รับการรักษา อาการไออาจจะยืดเยื้อออกไปมากกว่า 2-3 สัปดาห์ หรือบางคนอาจจะไอมากกว่า 1-3 เดือน อย่างที่คนจีนเรียกว่า “ไอ 100 วัน”
สัญญาณข้อที่ 2. มีไข้ต่ำ 37.5-38.0 องศาเซลเซียส จริงหรือ ?
เรื่องนี้เป็นจริง แต่ก็ไม่ได้เป็นสัญญาณจำเพาะ เพราะว่าโรคอื่นบางชนิดก็มีไข้ต่ำเหมือนกัน เช่น ไข้หวัดธรรมดาก็มีอาการอย่างนี้ได้
ดังนั้น จำเป็นต้องใช้ประวัติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการไอน้ำมูกแล้ว ถ้าเป็นไข้หวัดธรรมดา 4-5 วันอาการก็น่าจะดีขึ้น ถ้าเป็นไอกรนจะยังไม่ดีขึ้น แต่กลับจะไอมากขึ้นและไอแรงขึ้นด้วย
ไอกรนไข้ไม่สูง ส่วนใหญ่ไอกรนไข้จะอยู่ที่ 37.5-38 องศาเซลเซียส ไข้จะอยู่ประมาณนี้ 3-5 วัน หลังจากนั้นไข้จะลง แต่อาการไอจะมากขึ้น และช่วงไอมาก ๆ ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ แต่ถ้ามีไข้และอุณหภูมิร่างกายสูงถึง 39 องศาเซลเซียสไม่ใช่ไอกรน
สัญญาณข้อที่ 3. มีน้ำมูก และอาเจียน จริงหรือ ?
สัญญาณนี้จริงเหมือนกัน
“ไอกรน” อาการมี 3 ระยะ
ระยะที่ 1 เหมือนไข้หวัดธรรมดา มีไข้ต่ำ อาการไอยังไม่มาก มีน้ำมูก ในช่วงนี้ผู้ป่วยมาพบแพทย์จะแยกโรคยากมากว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ ส่วนมากจะคิดว่าเป็นไข้หวัด เพราะไอกรนพบน้อยมาก
คนที่เป็นไอกรนไข้จะหาย แต่ไอแห้ง ๆ มากขึ้น ไอแรงจนอาเจียน และไอจนอาเจียนจะทำให้แพทย์คิดถึงโรคไอกรนมากขึ้น น้ำมูกจะแห้งเลย แต่ “ไอ” เด่นมาก
ระยะที่ 2 สัปดาห์ที่ 3 มีอาการไอเป็นชุด ๆ ไม่มีเสมหะและจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ ไอถี่ ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้ง ตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (Whooping cough) ซึ่งเป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง
ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก หลอดเลือดที่คอโป่งพอง การไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมา ผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสามารถขับเสมหะที่เหนียวออกมาได้บางครั้งเด็กอาจจะมีหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทันโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วย อาการหน้าเขียวอาจจะเกิดจากเสมหะอุดทางเดินหายใจได้ส่วนใหญ่เด็กเล็กมักจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุด ๆ ระยะไอเป็นชุด ๆ นี้จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้
ระยะที่ 3 ฟื้นตัว กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุดจะค่อย ๆ ลดลง ทั้งความรุนแรงและจำนวนครั้งของการไอ แต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ ซึ่งถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์
สัญญาณข้อที่ 4. มีเลือดออกบริเวณตาขาว จริงหรือ ?
ผู้ป่วยไอกรนมีเลือดออกบริเวณตาขาวเป็นเรื่องจริง แต่ว่าการมีเลือดออกบริเวณตาขาวเกิดจากโรคอื่นได้ด้วย
หลอดเลือดแตกบริเวณใต้ตาขาวเพราะว่าไอมากจากโรคไอกรน แต่ในเด็กเล็กบางคนเป็นโรคไอกรนและไอมากจนเลือดออกในสมองก็มี เพราะฉะนั้นเลือดไม่ได้ออกบริเวณตาขาวอย่างเดียว แต่อาจจะออกบริเวณอวัยวะสำคัญอื่น ๆ ได้ด้วย
ดังนั้น ถ้ามีไข้หวัดธรรมดาและไข้ต่ำไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ก็ยังด่วนสรุปไม่ได้ว่าเป็นไอกรน จะต้องดูหลาย ๆ อย่างร่วมกัน เช่น ไอมาก ไอแรงจนอาเจียน และถ้ามีเลือดออกใต้ตาขาวด้วยก็จะทำให้คิดถึงโรคไอกรนมากขึ้น
สัญญาณข้อที่ 5. เวลาหายใจเข้าจะมีเสียง “วู้ป” จริงหรือ ?
เวลาที่ผู้ป่วยไอกรนหายใจเข้าจะมีเสียง “วู้ป” เพราะผู้ป่วยไอกรนหายใจเข้า หายใจแรง และเวลาไอถี่ ๆ ปุ๊บหายใจไม่ทัน เวลาหยุดหายใจก็จะมีเสียง “วู้ป” เหมือนกับพยายามนำลมหายใจเข้าไปมาก ๆ
สัญญาณนี้ จะบอกโรคได้ชัดเมื่อมีองค์ประกอบครบ 5 สัญญาณ ว่าป่วยเป็นโรคไอกรน
นอกจากนี้ พบได้บ่อยที่อาการของผู้ป่วยไอกรนไม่ครบทั้ง 5 สัญญาณ เพราะบางคนเคยได้รับวัคซีนไอกรนมาแล้ว แต่คนที่เคยได้รับวัคซีนจะทำให้โรคไม่รุนแรง และอาการที่ปรากฏก็จะไม่ชัดมาก
สิ่งสำคัญที่แพทย์จะได้ก็คือ ไอน้ำมูก 3-4 วัน เพื่อนที่ห้องเป็นไอกรน แพทย์จะต้องคิดว่าเป็นไอรนหรือไม่ จะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยทันทีและรักษาที่ถูกต้อง
ประวัติทางระบาดวิทยาก็มีความสำคัญ เช่น ผู้ป่วยคนนี้มีอาการอย่างนี้แล้ว แต่โดยรวมยังไม่ค่อยเหมือน แต่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคไอกรนชัดเจน อาจจะต้องสงสัยมากยิ่งขึ้น มีการตรวจและให้การรักษาได้ทันที
เด็ก และ ผู้ใหญ่ สัญญาณไอกรน เหมือนกันหรือไม่ ?
ถ้าเป็นเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 6 เดือน สัญญาณจะไม่เหมือนที่บอกข้างต้น
เด็กเล็กอาจจะมาพบแพทย์ด้วยอาการตัวเขียวและหยุดหายใจ หรืออาเจียนมาก แต่บางคนอาจจะมาด้วยอาการชัก
กรณีเด็กเล็ก การแยกโรคจะยากมาก นอกจากมีประวัติคนในบ้านป่วยไอกรนก็เข้าใจได้ง่ายขึ้น
สำหรับเด็กโต และผู้ใหญ่ อาการค่อนข้างคล้ายกัน ก็คือ ไอน้ำมูกมาก่อน 3-5 วัน หลังจากนั้นอาการน้ำมูกดีขึ้น แต่ไอมากขึ้นและไอแรงขึ้น ก็จะทำให้คิดถึงโรคไอกรนมากขึ้น
สรุปว่า “5 สัญญาณไอกรน” สามารถแชร์ต่อได้ แต่อาการแต่ละอย่างยกมาทีละข้ออาจจะเป็นโรคอื่นด้วยก็ได้
กรณีมาพบแพทย์มีอาการครบ 5 อย่างพร้อมกัน ก็จะทำให้คิดถึงโรคไอกรนมากขึ้น แต่ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ 5 อย่างพร้อมประวัติสัมผัสคนที่น่าจะเป็นไอกรน แพทย์ก็มั่นใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าน่าจะใช่
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : 5 สัญญาณโรคไอกรน จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter