29 กันยายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดระหว่างการประชันวิสัยทัศน์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2024 โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรครีพับลิกัน โจมตี กมลา แฮร์ริส ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรคเดโมแครต ว่ามีส่วนร่วมมือกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายชาวอเมริกันครอบครัวละ 28,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 924,000 บาท ต่างจากสมัยที่เขาเป็นผู้นำประเทศ ที่สหรัฐฯ ไม่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อเลย เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เติบโตมากที่สุด
บทสรุป :
- ไบเดน-แฮร์ริสทำสหรัฐฯ เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี แต่ไม่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
- รัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ เผชิญภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตสูงสุดตามที่อ้าง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ไบเดน-แฮร์ริสทำสหรัฐฯ เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี – แต่ไม่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ โจ ไบเดน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคม 2021 เป็นต้นมา ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะของเงินเฟ้อภายในประเทศ เพิ่มสูงขึ้น 19.4% ในระยะเวลา 3 ปีครึ่ง โดยเพิ่มสูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน 2022 ที่เพิ่มถึง 9.1%
อย่างไรก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาล โจ ไบเดน จะเพิ่มสูงที่สุดในรอบ 40 ปี แต่ไม่ได้เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ตามที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวอ้าง เพราะในช่วงทศวรรษที่ 1970s และต้นทศวรรษที่ 1980s สหรัฐฯ เคยเผชิญภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่านี้ อาทิ 1981 (10.3%) 1980 (13.5%) 1979 (11.3%) 1975 (9.1%) และ 1974 (11.1%)
หลังจากปี 2022 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ก็ชะลอตัวลง โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคมพบว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงอยู่ที่ 2.5%
ส่วนการอ้างว่าแต่ละครอบครัวในสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 28,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากอัตราเงินเฟ้อ ก็เป็นตัวเลขที่ยังไม่นำอัตราค่าแรงมาคำนวณ
ในช่วง 3 ปีครึ่งที่ โจ ไบเดน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 19.4% ส่วนอัตราค่าแรงเพิ่มขึ้น 17.7% เท่ากับอัตราค่าแรงตามหลังอัตราเงินเฟ้อที่ 1.7%
โครงการแจกเงินเยียวยาโควิด-19 ส่งผลต่อเงินเฟ้อบางส่วน
โดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่า กมลา แฮร์ริส มีส่วนรับผิดชอบจากการโหวตสนับสนุนกฎหมาย American Rescue Plan Act of 2021 หรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการแจกเงิน 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับชาวอเมริกันผู้เสียภาษีซึ่งมีรายได้ต่อปีไม่ถึง 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคิดเป็น 85% ของคนทั้งประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งฝั่งเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมต่างวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า โครงการดังกล่าวมีส่วนก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เมื่อชาวอเมริกันมีเงินมากกว่ากำลังการผลิตสินค้าที่หยุดชะงักในช่วงล็อกดาวน์ จนอุปสงค์เหนือกว่าอุปทาน ส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้กำลังการผลิตชะลอตัว และปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระตุ้นให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น คือ 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
โดยวิเคราะห์ว่า โครงการแจกเงินเยียวยาโควิด-19 ของ โจ ไบเดน และ กมลา แฮร์ริส ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ประมาณ 1-4%
ดีน เบคเกอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ Center for Economic and Policy Research วิเคราะห์ว่า กฎหมาย American Rescue Plan Act of 2021 ส่งผลดีและผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพราะการแจกเงินช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงาน แต่ก็ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แม้จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วขณะก็ตาม
รัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ เผชิญภาวะเงินเฟ้อเช่นกัน
แม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะอ้างในระหว่างประชันวิสัยทัศน์ว่า สหรัฐฯ ไม่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อเลยในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่การสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วง 4 ปีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.6% หรือเฉลี่ย 1.9 ต่อปี ซึ่งถือเป็นช่วงที่สหรัฐฯ มีอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (2.4% ต่อปี) และ บารัค โอบามา (1.8% ต่อปี)
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เติบโตสูงสุดในรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์
แม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะอ้างในระหว่างประชันวิสัยทัศน์ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เติบโตมากที่สุดในช่วงที่เขาเป็นผู้นำประเทศ แต่เมื่อสำรวจการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) กลับพบว่า ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยทำให้สหรัฐฯ มี GDP เติบโตสูงสุดที่ประมาณ 3% ในปี 2018 แต่เคยมีอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วยให้สหรัฐฯ มี GDP สูงกว่า 3% มาแล้วหลายครั้งเช่นกัน
โดยนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930s เป็นต้นมา นอกจาก บารัค โอบามา และ เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ แล้ว ผู้นำสหรัฐฯ ทุกรายต่างเคยช่วยให้สหรัฐฯ มี GDP เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3% คนละ 1 ปีเป็นอย่างต่ำ
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2024/sep/08/donald-trump/fact-checking-donald-trump-on-the-scale-and-causes/
https://www.factcheck.org/2024/09/factchecking-the-harris-trump-debate
https://www.snopes.com/fact-check/biden-worst-inflation-in-us-history/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter