09 กันยายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโรค Mpox หรือฝีดาษวานร เผยแพร่ทาง X (Twitter) โดยอ้างว่า ยา Tranilast ยารักษาโรคหอบหืดในประเทศญี่ปุ่นมีคุณสมบัติรักษาผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรได้ แต่ถูกกีดกันไม่ให้นำมาเผยแพร่ในทวีปยุโรปเนื่องจากมีราคาที่ถูกเกินไป
บทสรุป :
1.ผลการใช้ยา Tranilast ยับยั้งไวรัสฝีดาษเกิดขึ้นในเซลล์เพาะเลี้ยงและหนูทดลองเท่านั้น ยังไม่มีผลการทดลองกับมนุษย์
2.เป็นข้อมูลที่แชร์โดยแพทย์ที่ถูกตั้งข้อสงสัยด้านจริยธรรม
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ที่มาคำกล่าวอ้างมาจากคลิปวิดีโอปี 2022 ของ ดิดีเยร์ ราอูต์ นักจุลชีววิทยาและอดีตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชาวฝรั่งเศส ที่ระบุว่านักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้ทดลองยาหลายชนิดที่สามารถใช้ในการยับยั้งไวรัสฝีดาษ และพบว่ายาของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Tranilast ได้ผลดีที่สุด แต่มันไม่มีวันที่จะนำมาใช้ในยุโรป เนื่องจากมีราคาที่ถูกเกินไป
โดย นิโคลาส์ ดูปองต์-เอนยอง นักการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมของฝรั่งเศสได้นำข้อความดังกล่าวมารีโพสต์ โดยวิพากษ์วิจารณ์เชิงเปรียบเทียบอย่างไม่ถูกต้องว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ต่างจากยาฆ่าพยาธิ Ivermectin ที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างดี แต่กลับถูกแบนเพราะมีราคาถูกเกินไป ยา Tranilast ที่น่าจะรักษาโรคฝีดาษวานรได้ ก็ถูกแบนเพราะราคาถูกเกินไปเช่นกัน
ข้ออ้างผิด ๆ ของแพทย์ที่ถูกแบน
ดิดีเยร์ ราอูต์ เป็นอดีตแพทย์ผู้อื้อฉาวจากการสนับสนุนให้ใช้ Hydroxychloroquine ยารักษาโรคมาลาเรียบางชนิดและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั้ง ๆ ที่เป็นยาหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกยืนยันว่าไม่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโควิด-19
ดิดีเยร์ ราอูต์ เคยถูกหน่วยงานทางการแพทย์ของฝรั่งเศสกล่าวหาเรื่องการนำยา Hydroxychloroquine ไปทดลองกับผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่ได้รับอนุญาต
รายงานปี 2024 พบว่า ผลงานวิจัยของ ดิดีเยร์ ราอูต์ นับ 10 ชิ้นถูกถอนการตีพิมพ์ และมีงานวิจัยอีก 156 ชิ้นที่ถูกสำนักพิมพ์ระบุคำเตือนเรื่องข้อสงสัยด้านจริยธรรมอีกด้วย
ยา Tranilast ไม่เคยทดลองกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร
งานวิจัยที่ ดิดีเยร์ ราอูต์ อ้างถึงในคลิปวิดีโอ เป็นงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน เผยแพร่ทางวารสาร Journal of Medical Virology เมื่อปี 2019 ในหัวข้อ Selection and evaluation of potential inhibitors against vaccinia virus from 767 approved drugs หรือการคัดเลือกและประเมินประสิทธิผลยาที่ผ่านการอนุมัติ 767 ชนิดต่อศักยภาพด้านการยับยั้งไวรัส Vaccinia
แม้ผลวิจัยจะพบว่า ยา Tranilast และ ยา Mycophenolate mofetil ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคชนิดรับประทาน จะเป็นยา 2 ชนิดที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อไวรัสฝีดาษ แต่การทดลองดังกล่าวเกิดขึ้นในเซลล์เพาะเลี้ยงและหนูทดลอง โดยยังไม่มีการทดลองในมนุษย์แต่อย่างใด
แอน กอฟฟอร์ด แพทย์และศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยลีล ประเทศฝรั่งเศส อธิบายว่า เนื่องจากไม่มีการทดลองในมนุษย์หรือแม้แต่ในวานร ผลวิจัยจึงไม่อาจบอกได้ว่า การนำมาใช้กับผู้ป่วยฝีดาษวานรจะได้ผลเป็นอย่างไร
แอน กอฟฟอร์ด ชี้แจงว่า การที่งานวิจัยยุติแค่ในชั้นเซลล์เพาะเลี้ยง อาจเป็นเพราะบริษัทผู้ผลิตยาเลิกสนใจในตัวยาหรือการทดลองในขั้นสัตว์ทดลองให้ผลที่ไม่ชัดเจน ทำให้การทดลองสิ้นสุดลง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.20minutes.fr/societe/4106198-20240819-virus-mpox-sait-efficacite-medicament-tranilast-contre-variole-singe
https://www.france24.com/en/africa/20240822-covid-vaccine-gay-sex-miracle-cure-fake-news-epidemic-follows-mpox-outbreak
https://en.wikipedia.org/wiki/Didier_Raoult
https://en.wikipedia.org/wiki/Tranilast
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter