21 กรกฎาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างว่าหนึ่งในหลักฐานที่ทำให้เชื่อว่าการสำรวจดวงจันทร์ของยาน Apollo 11 เป็นเรื่องลวงโลก คือหนังสือพิมพ์หลายสำนักสามารถตีพิมพ์ภาพการสำรวจดวงจันทร์เพียงหนึ่งวัน หลัง นีล อาร์มสตรอง พิชิตดวงจันทร์ได้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ต้องใช้เวลาอีก 3 วัน กว่านักบินอวกาศจะเดินทางกลับมายังโลก และยังต้องใช้เวลาอีกหลายวัน กว่าจะล้างภาพได้สำเร็จและส่งไปยังหนังสือพิมพ์แต่ละสำนัก
ตัวแทนขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NASA ชี้แจงต่อสำนักข่าว Reuters ว่า ภาพการสำรวจดวงจันทร์ของยาน Apollo 11 ที่หนังสือพิมพ์เผยแพร่บนข่าวหน้าหนึ่งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1969 เป็นภาพที่นำมาจากการถ่ายทอดสดที่ยิงสัญญาณตรงมาจากดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา โดยไม่จำเป็นต้องรอภาพจากกล้องถ่ายภาพของนักบินอวกาศแต่อย่างใด
กล้องถ่ายภาพจากดวงจันทร์
Westinghouse Electric Corporation บริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ คือผู้ผลิตกล้องวิดีโอเพื่อบันทึกภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ให้กับ NASA โดยเป็นกล้องที่ต้องมีน้ำหนักเบา ใช้พลังงานน้อย ทนต่อสภาพอากาศบนดวงจันทร์ที่อุณหภูมิแตกต่างกันสุดขั้ว (121 °C ในตอนกลางวัน และ −157 °C ในตอนกลางคืน) สามารถบันทึกภาพวิดีโอที่ความสว่างและความมืดแตกต่างกันสูงบนดวงจันทร์ และต้องสามารถส่งสัญญาณกลับมายังโลกได้ด้วย
จนเป็นที่มาของการผลิต Westinghouse Apollo lunar television camera กล้องวิดีโอบันทึกภาพการสำรวจดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติได้สำเร็จ โดยฝีมือของ สแตนลีย์ เลอบาร์ วิศวกรไฟฟ้าของ Westinghouse Electric Corporation
ตัวกล้องมีน้ำหนัก 3.29 กิโลกรัม ใช้พลังงานเพียง 6.5 กิโลวัตต์
มีการนำเทคโนโลยีซึ่งเป็นความลับของกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้กล้องถ่ายวิดีโอบนดวงจันทร์สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวในสภาวะแสงน้อย โดยไม่ทำให้ภาพมัวได้สำเร็จ
ข้อมูลวิดีโอจากตัวกล้องถูกทำให้มีขนาดเล็กลง จากปกติที่ 525 เส้นและ 30 ภาพต่อวินาที ลดลงมาที่ 325 เส้นและ 10 ภาพต่อวินาที เพื่อให้ข้อมูลภาพที่ขนาดเล็กและสามารถส่งกลับมาพร้อมกับสัญญาณอื่น ๆ จากยานอวกาศบนดวงจันทร์ได้
เมื่อยานลงจอดบนดวงจันทร์แตะพื้นผิวดวงจันทร์ Apollo lunar television camera ได้ถูกติดตั้งที่ด้านนอกของตัวยาน โดยหันเลนส์กล้องไปที่บันได เพื่อจับวินาทีที่ นีล อาร์มสตรอง ก้าวเท้าลงสู่ดวงจันทร์ได้สำเร็จ
การส่งสัญญาณมายังโลก
บนยานลงจอดดวงจันทร์มีการติดตั้งสายอากาศเพื่อส่งสัญญาณจากดวงจันทร์ที่ระยะทาง 322,000 กิโลเมตรกลับมายังพื้นโลก โดยมีจุดรับสัญญาณ 3 จุด ได้แก่ หอสังเกตการณ์ Goldstone Observatory ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และ สถานี Honeysuckle Creek Tracking Station กับ หอสังเกตการณ์ Parkes Observatory ในประเทศออสเตรเลีย
หลังจากแปลงสัญญาณวิดีโอจากดวงจันทร์ให้เป็นมาตรฐานแล้ว ก็จะส่งสัญญาณขึ้นสู่ดาวเทียมเพื่อส่งต่อไปยังศูนย์บัญชาการของ NASA ที่เมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส เพื่อเผยแพร่ภาพการสำรวจดวงจันทร์ไปยังหน้าจอโทรทัศน์ ที่มีผู้ชมทั่วโลกเฝ้าชมผ่านการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม ซึ่งประเมินว่ามีผู้รับชมวินาทีที่มนุษย์พิชิตดวงจันทร์ครั้งแรกกว่า 600 ล้านคนเมื่อปี 1969
ภาพจากการซ้อม
นอกจากภาพจากกล้องวิดีโอที่ส่งจากดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมแล้ว หนังสือพิมพ์บางสำนักยังใช้ภาพจากการซ้อมก่อนเยือนดวงจันทร์เมื่อเดือนเมษายน 1969 มาใช้ในการตีพิมพ์ข่าวของยาน Apollo 11 ด้วยเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/fact-check/washington-post-images-1969-moon-landing-taken-nasa-live-feed-2024-02-27/
https://fullfact.org/online/moon-landing-front-page-photos-altered/
https://www.scienceandmediamuseum.org.uk/objects-and-stories/moon-to-living-room-apollo-11-broadcast
https://en.wikipedia.org/wiki/Apollo_11_missing_tapes
https://en.wikipedia.org/wiki/Apollo_TV_camera
How did they broadcast live TV from the Moon?
https://www.youtube.com/watch?v=9vTrmPWULfo
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter