ชัวร์ก่อนแชร์: ความคืบหน้าการวิจัยวัคซีน mRNA พิชิตมะเร็ง

22 มิถุนายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ความสำเร็จของการใช้วัคซีน mRNA ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้มีการนำเทคโนโลยี mRNA ไปต่อยอดเพื่อการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งการทดลองที่ได้รับการจับตามากที่สุดคือการใช้วัคซีน mRNA สำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

วัคซีน mRNA เพื่อการรักษามะเร็ง ไม่ใช่แค่ป้องกันมะเร็ง


mRNA สำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ใช่วัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยเป็นมะเร็ง แต่เป็นวัคซีนที่ใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะ

วัคซีน mRNA เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 และวัคซีน mRNA เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งมีโครงสร้างที่คล้ายกัน คือการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วยการใช้สารพันธุกรรม RNA ดัดแปลงที่ห่อหุ้มด้วยอนุภาคไขมัน Lipid Nanoparticle ฉีดเข้าสู่ร่างกาย

แต่ความต่างอยู่ที่ mRNA ในวัคซีนผู้ป่วยมะเร็งคือรหัสพันธุกรรมที่กระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายสร้างโปรตีนที่คล้ายกับของเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยมะเร็ง (Tumor-Specific Antigens และ Neoantigens) เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายจดจำและพุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ โดยไม่กระทบต่อเซลล์ปกติของผู้ป่วย


วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล

เนื่องจากเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยแต่ละรายมีความเฉพาะเจาะจง การผลิตวัคซีน mRNA รักษามะเร็งให้สำเร็จ จำเป็นต้องนำเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยมาใช้ในการผลิตวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาผู้ป่วยมะเร็งแต่ละรายได้อย่างมาก

ฟิลลิป ซานแทนเจโล นักวิจัยมะเร็งจากมหาวิทยาลัยเอมอรี และผู้นำโครงการวิจัยวัคซีน mRNA ซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ชี้แจงว่า เทคโนโลยี mRNA คือวิธีการที่เรียบง่ายในการสอนให้เซลล์ผลิตโปรตีนที่จำเป็นต่อการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อเร่งกระบวนการกำจัดเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ

ความคืบหน้าวัคซีน mRNA เพื่อรักษามะเร็งผิวหนัง

หนึ่งในวัคซีน mRNA เพื่อรักษามะเร็งที่มีความก้าวหน้าในการทดลองมากที่สุด ได้แก่วัคซีน mRNA ที่ร่วมผลิตโดยบริษัทยา Moderna (mRNA-4157) และ Merck (V940) เพื่อรักษามะเร็งผิวหนังชนิด Melanoma ซึ่งเป็นหนึ่งในมะเร็งที่มีความรุนแรงอย่างมาก

ในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 มีอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิด Melanoma ซึ่งผ่านการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว มาร่วมทดลองวัคซีนจำนวน 157 ราย

การทดลองแบ่งกลุ่มควบคุมเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาแอนติบอดี้รักษาโรคมะเร็งชนิด KEYTRUDA (pembrolizumab) จำนวน 50 ราย และกลุ่มทดลองที่รักษาด้วยยา KEYTRUDA ร่วมวัคซีนจำนวน 107 ราย

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2024 บริษัท Moderna ได้ประกาศผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2b โดยพบว่า กลุ่มทดลองที่ใช้ยารักษามะเร็งร่วมกับวัคซีน ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งซ้ำหรือเสียชีวิตจากมะเร็งได้มากกว่ากลุ่มควบคุมที่ใช้ยารักษามะเร็งอย่างเดียวที่ 49% และการใช้วัคซีนร่วมกับยารักษามะเร็ง ลดการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ มากกว่าการใช้ยารักษามะเร็งอย่างเดียวถึง 62%

ส่วนอัตราการรอดชีวิตโดยมะเร็งไม่เกิดซ้ำอีก (Recurrence-Free Survival Rate) ในระยะเวลา 2.5 ปี พบว่า กลุ่มควบคุมที่ใช้ยารักษามะเร็งอย่างเดียวอยู่ที่ 55.6% ส่วนกลุ่มทดลองที่ใช้ยารักษามะเร็งร่วมกับวัคซีนอยู่ที่ 74.8%

ส่วนอาการข้างเคียงจากผู้รับวัคซีน mRNA เพื่อรักษาผิวหนัง (mRNA-4157) ที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย หนาวสั่น และปวดบริเวณที่ฉีดยา

บริษัทยา Moderna และ Merck ยังได้ประกาศการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 กับผู้ป่วยความเสี่ยงสูงจากมะเร็งผิวหนังชนิด Melanoma และผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก (non-small cell lung cancer) รวมถึงการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 กับผู้ป่วยมะเร็งเนื้อเยื่อไต (Renal Cell Carcinoma) และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Urothelial carcinoma) และการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2/3 กับผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิด Cutaneous Squamous Cell Carcinoma

ความคืบหน้าวัคซีน mRNA เพื่อรักษามะเร็งตับอ่อน

ขณะเดียวกัน บริษัทยา BioNTech และ Genentech ได้ร่วมกันทดลองวัคซีน mRNA เพื่อรักษาหนึ่งในมะเร็งตับอ่อนชนิดที่ร้ายแรงที่สุด ได้แก่ มะเร็งท่อน้ำดีของตับอ่อน (Pancreatic Ductal Adenocarcinoma)

ในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 เมื่อพฤษภาคม 2023 เป็นการทดลองกับผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนที่ผ่านการผ่าตัดแล้วจำนวน 15 ราย โดยรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ยาแอนติบอดี้รักษาโรคมะเร็งชนิด Tecentriq (Atezolizumab) และวัคซีน mRNA เพื่อรักษามะเร็งจำนวน 9 โดส ซึ่งประกอบด้วย Neoantigens หรือโปรตีนที่คล้ายกับของเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 20 ชนิด

การทดลองพบว่า ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งได้รับการกระตุ้นการทำงานเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์อย่างสูงหลังได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการรอดชีวิตโดยมะเร็งไม่เกิดซ้ำอีก (Recurrence-Free Survival Rate) สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการกระตุ้นการทำงานของทีเซลล์

โดยพบว่าหลังจากผ่านไปแล้ว 3 ปี กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากวัคซีน mRNA ยังมีระดับของภูมิคุ้มกันที่สูงเช่นเดิม

ความสำเร็จที่ต่อยอดจากวัคซีนโควิด-19

ฟิลลิป ซานแทนเจโล นักวิจัยมะเร็งจากมหาวิทยาลัยเอมอรี มองว่าการอุบัติของโรคโควิด-19 คือส่วนกระตุ้นให้การใช้เทคโนโลยี mRNA เพื่อการรักษาถูกพัฒนาแบบก้าวกระโดด ทั้งการวิจัยและการผลิตในวงกว้าง ซึ่งการใช้วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA อย่างแพร่หลาย ยังเป็นการยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีน mRNA อีกด้วย

ดร.เจมส์ เอ. ฮอกซี ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เปิดเผยว่า การวิจัยวัคซีน mRNA เท่าที่ผ่านมาล้วนประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ เห็นได้ชัดเจนว่าวัคซีน mRNA ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดการเติบโตของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการกลับมากำเริบของมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ต้องรอการพิสูจน์คือผลการรักษาในระยะยาว ว่าการใช้วัคซีน mRNA สามารถยับยั้งมะเร็งได้นานเพียงใด ซึ่งหลักฐานที่พิสูจน์ได้ในปัจจุบันคือ เทคโนโลยี mRNA ช่วยพัฒนามาตรฐานการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.factcheck.org/2024/03/scicheck-social-media-posts-misinterpret-biden-on-mrna-cancer-vaccines/
https://investors.modernatx.com/news/news-details/2024/Moderna–Merck-Announce-3-Year-Data-For-mRNA-4157-V940-in-Combination-With-KEYTRUDAR-pembrolizumab-Demonstrated-Sustained-Improvement-in-Recurrence-Free-Survival–Distant-Metastasis-Free-Survival-Versus-KEYTRUDA-in-Patients-With-High-Risk-Stage-IIIIV/default.aspx
https://www.nature.com/articles/s41586-023-06063-y

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตึกถล่มพบเสียชีวิตเพิ่ม

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่าง

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ในพื้นที่โซน B และโซน C มีซากอาคารถล่มทับร่างอยู่ ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่างและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารต่อเนื่อง

ชายวัย 50 ไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องเมียท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากตึก สตง.

ชายวัย 50 ปี ยกมือไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องภรรยาท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากอาคาร สตง.ถล่ม ด้านรอง ผบช.น. เตือนอย่าใช้โอกาสที่มีผู้ประสบเหตุสร้างความสงสารหลอกเอาทรัพย์สิน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ข่าวแนะนำ

เริ่มใช้เครื่องจักรหนักเปิดซากอาคาร สตง.ถล่ม

102 ชั่วโมงแล้ว สำหรับปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุอาคาร สตง.ถล่ม หน่วยกู้ภัยจากนานาชาติให้ความหวังว่ายังมีโอกาสเจอผู้รอดชีวิต ทำให้การค้นหาวันนี้ต้องแข่งกับเวลาอย่างเต็มที่

ทองไทยนิวไฮต่อเนื่อง ปิดตลาดเพิ่มขึ้น 550 บาท

ทองคำไทยผันผวนหนัก ปรับเปลี่ยน 18 ครั้ง ก่อนปิดตลาดปรับเพิ่ม 550 บาท ระหว่างวันขึ้นไปแตะนิวไฮ ทองคำแท่งขายออก 50,700 บาท ทองรูปพรรณขายออก 51,500 บาท ขึ้นไปต่อเนื่อง